ผลศึกษา‘ชอร์ตเซล’ผ่าน วงในค้านขาดปัจจัยรายย่อย -โบรกใหญ่คุมผลประโยชน์
ผลศึกษา ‘ชอร์ตเซลล์-โปรแกรมเทรด’หุ้นไทยผ่านได้มาตรฐานต่างประเทศ ตลท.รับข้อเสนอ 4 ด้านป้องปราบ“เน็ตเก็ตชอร์ต” ด้านวงในเผย ข้อมูลยังไม่คลอบคลุมเไร้ความเห็นรายย่อย แถมโบรกใหญ่มีส่วนได้เสียนั่งอยู่ในบอร์ด คาดฟื้นความเชื่อมั่นยากหากไม่มียาแรงพอ
KEY
POINTS
๐ ตลท. เปิดผลศึกษา "ชอร์ตเซล- โปรแกรมเทรด" ที่ปรึกษา "โอลิเวอร์ ไวแมน" ให้ผ่านอิงมาตรฐานเทียบเท่าตลาดหุ้นใหญ่ พร้อมแนะให้ปรับเกณฑ์มากกว่า "แบน" เหมือนตลาดหุ้นจีนและเกาหลีใต้
๐ บอร์ด ตลท. เห็นชอบตรวจสอบ "ชอร์ตเซล "และ "เน็ตเก็ตชอร์ต" ผ่าน 4 มาตรการเพิ่มเติม 1.การควบคุม (Control) 2.การรายงาน (Reports) 3.การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ (Monitoring & Enforcement) และ 4.การแบ่งความรับผิดชอบ (Responsibility)
๐ด้านวงในมองต่างข้อมูลยังไม่คลอบคลุมไปถึงรายย่อย และไม่รวมภาวะตลาดหุ้นเข้าไปศึกษา รวมทั้งมีโบรกใหญ่กินมาร์เก็ตแชร์ 30 % นั่งในบอร์ดตลท. มีส่วนร่วมบนผลประโยชน์ของตัวเองไปด้วย เชื่ไม่มียาแรงพอออกมาเป็นมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นไม่ได้
ภาวะตลาดหุ้นไทยยังเผชิญผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ และปัจจัยในประเทศเข้ามามีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนี ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศกำลังสั่นคลอนจากปัญหาการเปิดช่องให้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย Program Trading ทั้ง High-Frequency Trading (HFT) และ Robot Trade จนไปถึงการขายชอร์ต Short sell เข้ามาจำนวนมากสะท้อนจากสัดส่วนการซื้อขายดังกล่าวขึ้นมาอยู่ที่ 50 % ของมูลค่าการซื้อขายเป็นที่เรียบร้อย
ทางหน่วยงานตลาดทุน “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” หรือ ตลท. จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชั้นนำระดับสากล “โอลิเวอร์ ไวแมน”เข้ามาศึกษาประเด็นดังกล่าว ซึ่งวานนี้ (12 ก.พ.2567) มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงข้อสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกฎระเบียบและแนวปฏิบัติ short selling และ program trading ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยได้มีการเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย (peer exchanges) เพื่อยกระดับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีความโปร่งใส และเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้ลงทุนทุกประเภท
จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาพบว่า ในภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยมีกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการทำ short selling และ program trading ที่สามารถเทียบเคียงได้กับ peer exchanges แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณา เพื่อที่จะเป็นมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเบื้องต้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้
- การควบคุม (Control): การเพิ่มกลไกการควบคุม program trading และลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งในภาพรวมและในกรณี short selling อาทิ การกำหนดแนวทางในการติดตามการทำธุรกรรม short selling หรือการมีกลไกควบคุมราคาเพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
- การรายงาน (Reports): การปรับปรุงรายงาน short selling เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและการติดตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน
- การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ (Monitoring & Enforcement): โดยการเน้นย้ำความคาดหวังต่อบริษัทสมาชิกในการดูแลให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับบทลงโทษให้มีความเข้มข้น
- การแบ่งความรับผิดชอบ (Responsibility): ซึ่งจะมีการนำเสนอกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดูแลการทำ short selling และ program trading ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้โดยตรงและรวดเร็ว
ผลที่ได้จากการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน จะสามารถทำให้การป้องกันการทำธุรรรม naked short selling และการทำธุรกรรม program trading ที่ไม่เหมาะสม ทำได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาแล้ว และเห็นควรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำข้อเสนอของที่ปรึกษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้นำเรื่องที่จะปรับปรุงไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป
ด้านแหล่งข่าวโบรกเกอร์เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ผลการศึกษาดังกล่าวในที่ประชุมบอร์ดตลท.ไม่ได้เกินคาดโดยระบุว่าตลาดหุ้นไทยมีมาตรฐานตามเกณฑ์ตลาดหุ้นที่มีการเปรียบเทียบและไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกการ Short sell เหมือนกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้หรือจีน เพราะสามารถเพิ่มสถาพคล่องและราคาหุ้นช่วงตลาดขาลงได้
รวมทั้งยังระบุว่าตลาดหุ้นไทยมีความสามารถการพลักดันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นไปตามตลาดหุ้นโลก และยังเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามทางที่ปรึกษารับทราบว่ามีนักลงทุนในประเทศไม่พอใจกรณี program trading จากความเร็วและเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากันทำเกิดช่องว่างการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น
ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตว่าไม่ได้พูดคุยกับตัวแทนรายย่อย มีแค่กลุ่มตัวกลางหรือโบรกเกอร์และที่สำคัญโบรกเกอร์ใหญ่อย่าง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน ภัทร ที่กินส่วนแบ่งการตลาด 30 % และมี HFT มากที่สุดนั่งอยู่ในตำแหน่งบอร์ดตลท . กลายเป็นมีส่วนร่วมบนผลประโยชน์ของตัวเองไปด้วย
รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องดีแต่ดูลักษณะระบุเป็นสถาบันหรือกองทุนในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปจากในอดีตที่เข้ามาลงทุนระยะยาวกลายเป็นเข้ามาเพื่อเก็งกำไรมากกว่า สังเกตได้จากหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไล่จากหุ้นกลุ่ม Set50 ไป Set 100 ตอนนี้กลายเป็นหุ้นเล็กแทน
“ในที่ประชุมบอร์ดเพื่อมารับฟังแต่การศึกษาดังกล่าวไม่ได้คลอบคลุมฐานรายย่อยและไม่ได้มีการเข้าไปพูดคุยในส่วนนี้เลย เพราะอาจจะหาตัวแทนกลุ่มนี้ไม่ได้ รวมถึงไม่ได้รวมปัจจัยด้านภาวะตลาดหุ้นที่ไทยเข้าไปด้วยไปเปรียบกับตลาดอื่นกลายเป็นไทยไม่ได้กว้างและลึกเท่าผลดีผลเสียจึงไม่เท่ากัน “
ปัจจุบันการฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศคาดหวังยาแรงหรือมาตรการแรง ออกมา ยิ่งมีประธานตลท.คนใหม่ด้วยแล้วหากยังไม่ใช้วิธีทุบโต๊ะหรือเปลี่ยนแปลงใหญ่ยากที่นักลงทุนจะกลับมาเชื่อมั่น