ไล่เช็กงบ CMO โผล่รายการ "จ่ายเงินไร้หลักฐาน"

ไล่เช็กงบ CMO  โผล่รายการ "จ่ายเงินไร้หลักฐาน"

สถานการณ์บริษัทจดทะเบียนที่พานักลงทุนหวาดผวายังหนีไม่พ้น “ปัญหาหุ้นกู้” ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ระเบิดลูกใหญ่กรณี “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น “หรือ STARK จนทำให้ตลาดตราสารหนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

      บรรดา บจ. ที่มี “หุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์” เผชิญการชะงักงัน Rollover หุ้นกู้ของตัวเองเพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดในเวลานี้ที่จะ “ผิดนัดชำระหนี้”   ซึ่งได้เห็นหลายบริษัทในตลาดหุ้นไทยต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหามากขึ้น

     ดังนั้นจึงถูกโยงไปถึงการบริหารธุรกิจ “สภาพคล่อง” หรือ”กระแสเงินสด” ในมือว่ามีเพียงพอแค่ไหน และมีหมกเม็ดในอดีตที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นการโชว์ "จุดบอด" ที่บริษัทปกปิดไว้ก่อนหน้าไม่ไหวอีกต่อไป

      กรณี บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ที่ถูกตั้งคำถามจากสำนักงาน ก.ล.ต. กรณีงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566  ตามที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง

      หนึ่งในประเด็นดังกล่าวหุ้นกู้ CMO23NA มูลค่า 100 ล้านบาท ครบกำหนดชำระ 27 พ.ย.2566 แต่บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 274.3 ล้านบาท “เผชิญหนี้หุ้นกู้ทันที”  จึงเป็นที่มาการแก้ไขปัญหาการเพิ่มทุนเสนอขายเฉพาะเจาะจง (PP) 78 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม (RO) 280 ล้านหุ้น (1:1)ราคาหุ้นละ 0.70 บาท 

     รวมทั้งขอเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ซึ่งได้รับการอนุมัติขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ออกไปอีก 2 ปี เป็น 27 พ.ย.2568 ด้วยการแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วนเป็นรายงวดจำนวน 10 งวด ตลอดระยะเวลา 2 ปี และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้จากเดิม 6.50% ต่อปี เป็น 7.00% ต่อปี 

     ไล่เช็กงบ CMO  โผล่รายการ \"จ่ายเงินไร้หลักฐาน\"

      วัตถุประสงค์เพิ่มทุนชัดเจนนำไปชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ และดอกเบี้ยบางส่วนของหุ้นกู้ของบริษัทครั้งที่ 1/2566 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท และเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมทั้งเพื่อใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับแผนการลงทุนในอนาคต รวมถึงเพื่อใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืม และดอกเบี้ยของบริษัท

       หากแต่ยังมีคำถามถึงการดำเนินธุรกิจที่มีปัญหาจนกระทบการเงิน  หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ CMO ชี้แจงแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน กรณี Special Audit ปรากฏมีการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการปฏิบัติงานร่วมกันกับบริษัท และมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท มูลค่าความเสียหายรวม 25.55 ล้านบาท

      โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัท และบริษัทที่ปรึกษา อาจสื่อถึงความไม่รัดกุมในการบริหารจัดการ อันเป็นเหตุให้บริษัทเกิดความเสียหายทางการเงินได้ รวมถึงอาจสื่อได้ว่าอดีตผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มบริษัท

     

 ทั้งนี้ ให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 27 ก.พ.2567 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษารายงานตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

1. ขาดกระบวนการที่ชัดเจน และรัดกุมเพียงพอในการคัดเลือกผู้ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา

2. ขาดกระบวนการในการติดตามผลการปฏิบัติงานของคู่ค้า ผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษา

3. ขาดกระบวนการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของกลุ่มบริษัท และการตัดสินใจร่วมโดยคณะกรรมการบริหารของบริษัท

    ประเด็นที่ขอให้บริษัทชี้แจง  แนวทางปรับปรุงระบบควบคุมภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จความเห็นของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบต่อแนวทางการปรับปรุงระบบควบคุมภายในดังกล่าวด้วย

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์