ปลดล็อก Transition Finance ด้วยกุญแจ 2 ดอก

ปลดล็อก Transition Finance ด้วยกุญแจ 2 ดอก “กุญแจดอกแรก” ที่ต้องใช้คือ การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียว และ 2 ในบริบทของสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สวัสดีครับ

ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ Germanwatch หน่วยงานที่เกาะติดสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้รายงานว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาแนวทางปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนโดยเร็ว 

เมื่อพูดถึง “การเปลี่ยนผ่าน” สิ่งที่คุณผู้อ่านน่าจะคิดถึงเป็นอย่างแรก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ชี้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 43 จากระดับปี 2562 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ไม่เกิน 1.5 องศาตามเป้า นอกจากนี้ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกยังได้ประเมินอีกว่า ทวีปเอเชียจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนทั่วโลก แต่ต้องหาเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกว่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ในเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2593

โจทย์ใหญ่นอกเหนือจากเรื่องการหาเม็ดเงินลงทุน คือการตอบคำถามว่าเราจะใช้เครื่องมือใดกับการจัดการวาระระดับโลกนี้ ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอเน้นย้ำความสำคัญของ Transition Finance อีกครั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่จะนำพาเศรษฐกิจของเราให้ไปสู่ความเขียวอย่างแท้จริง Transition Finance คือ การสนับสนุนทางการเงินทุกรูปแบบเพื่อช่วยให้บริษัทที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนสูง (Brown Industry) ให้เริ่มหันมาใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเพื่อให้บริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Industry) 

ความหมายของ Transition Finance นี้ ค่อนข้างเป็นไปในแนวทางเดียวกับการเงินสีเขียว (Green Finance) โดยการเงินสีเขียวนั้นมีเป้าหมายที่ค่อนข้างเข้มข้นและล้ำหน้ากว่าในแง่ของ “ความเขียว” คือการให้กู้แก่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในทางบวก อาทิ การอนุรักษ์พลังงาน หรือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีการลงทุนหรือกิจกรรมทางธุรกิจสีเขียวโดยตรงซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก จากการประมาณการของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) การเงินสีเขียวในปัจจุบัน น่าจะครอบคลุมลูกค้าไม่เกินร้อยละ 10 ของพอร์ตโฟลิโอของธนาคารทั่วโลกโดยเฉลี่ย ขณะที่ Transition Finance จะครอบคลุมลูกค้าในส่วนที่เหลือคือเป็นกลุ่มที่ยังไม่เป็นสีเขียวแต่มีความต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายอุณหภูมิที่ระบุไว้ในความตกลงปารีสซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 90 ของพอร์ตโฟลิโอธนาคารโดยประมาณ 

ทั้งนี้ หากเราต้องการปลดล็อกศักยภาพของ Transition Finance “กุญแจดอกแรก” ที่ต้องใช้คือ การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียว อาทิ การออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนหรือ Sustainability-Linked Bond (SLB) และการให้สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability-Linked Loan (SLL) เพื่อการสร้างการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ

ขณะเดียวกัน การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ คือ “กุญแจดอกที่สอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลจริง จําเป็นต้องมีการกำหนดเส้นทาง (Pathway) และการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม ซึ่งความท้าทายคือการหาแนวทางกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของลูกค้าในพอร์ตโฟลิโอ สถาบันการเงินก็ต้องพยายามช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ เพราะหากลูกค้าไม่สามารถเปลี่ยนจาก “น้ำตาล” เป็น “เขียว” ได้ ธนาคารก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้เช่นกัน

และจากการตื่นตัวด้านกระแสการรักษ์โลกที่เป็น Mega Trend เราได้เห็นสถาบันการเงินชั้นนำได้ผนวกมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจ ผ่านนโยบายการให้สินเชื่ออย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมความยั่งยืนในธุรกิจสินเชื่อผ่านกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้วยการจัดกลุ่มลูกค้า อาทิ การกำหนดกลุ่มธุรกรรมที่ไม่รับพิจารณา (Prohibited Transaction) กลุ่มธุรกรรมพึงระมัดระวัง (High Caution Transaction) หรือ ธุรกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เป็นต้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงก่อนการให้สินเชื่อ

ในมุมลูกค้า หากต้องการเปลี่ยนผ่านรูปแบบธุรกิจ อาจต้องเริ่มพิจารณากำหนดแผนธุรกิจขององค์กร โดยผนวกเข้ากับกลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะช่วยดึงดูดเงินลงทุน และกลยุทธ์ดังกล่าวนั้นต้องสามารถเกิดได้จริง อีกทั้งยังต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และข้อมูลล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based) มีความโปร่งใส (Transparent) เพราะข้อมูลเหล่านี้คือ “สมุดพกสีเขียว” ที่ช่วยให้ธนาคารนำไปพิจารณาก่อนการให้สินเชื่อ

ดังนั้น การจะสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน ควรเริ่มด้วยกุญแจดอกที่หนึ่ง นั่นคือการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมผ่านการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ควบคู่กับกุญแจดอกที่สองซึ่งก็คือการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมและรอบด้าน โดยกุญแจทั้งสองดอกนี้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพแห่ง Transition Finance อีกทั้งยังสามารถช่วยธนาคารลดทอนความเสี่ยง เสริมความเชื่อมั่น และขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างการเติบโตและผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นครับ