THAI กำไรปี 66 พุ่ง 2.8 หมื่นล้าน รับผู้โดยสารพุ่ง-บุ๊คกำไรปรับโครงสร้างหนี้
THAI เผยปี 66 มีกำไรสุทธิ 2.8 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 10,429.4% รับปริมาณเที่ยวบินและการขยายเส้นทางบินเพิ่มขึ้น รองรับความต้องการเดินทาง หลังจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 52.7% แตะ 13.76 ล้านคน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งผลดำเนินงานปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 28,096.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,429.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 272.25 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 12.87 บาท จาปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.12 บาท โดย มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจาการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) เป็นกำไรจำนวน 42,875 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25,634 ล้านบาท
โดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 161,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56,026 ล้านบาท (53.3%) ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน มีจำนวน132,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.3% เนื่องจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และเส้นทางบินที่ให้บริการเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รวมถึงการกลับมาให้บริการในเส้นทางสู่ สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง และการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยอดนิยม รายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันและค่าเบี้ยประกันภัย) เท่ากับ 3.06 บาท เพิ่มขึ้น 0.24 บาท (8.5%) หรือประมาณ 10,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 120,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,612 ล้านบาท (24.3%) มีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 15,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,224 ล้านบาท (26.0%)
บริษัทมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 3,956 ล้านบาท ประกอบด้วย กำไรจากการยกเลิกสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่พึงได้ กำไรจากการตัดรายการหนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธีทุนตัดจำหน่าย และขาดทุนจาการปรับปรุงหนี้สินให้เป็นไปตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ นอกจากนี้มีกำไรจากการขายทรัพย์สิน จำนวน 469 ล้านบาท
โดย วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 70 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.2 ชั่วโมง ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 65.4% คิดเป็นเงินประมาณ 48,200 ล้านบาท ในขณะที่มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 40.9% โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่าปีก่อนที่อยู่เฉลี่ย 67.9%
รวมทั้งมีจำนวนผู้โดยสารทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52.7% สำหรับการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 40.9% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 15.4% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.7% ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 63.1%