ตลท.ถกโบรกสกัด 'หุ้นร้อน' เลิก 'ห้ามเทรด' ใช้ประมูลแทน
ตลท. ใช้ยาแรงเพิ่มมาตรการดับหุ้นร้อน - ชอร์ตเซล หวังเพิ่มความเชื่อมั่นระบบซื้อขาย วงในระบุบอร์ดเตรียมอนุมัติใช้ Auction แทน P และยกเลิกซิ่ลลิ่งและฟลอร์สกัดหุ้นร้อนแรง ด้านโบรกเห็นด้วยทำให้ตลาดหุ้นโปร่งใสพร้อมหารือ 29 ก.พ.
หลังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ หรือ บอร์ด ตลท. มีมติดำเนินการเพื่อยกระดับความเขื่อมั่นเรื่อง ขายชอร์ต (Short selling) และ โปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading) รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นแก่นักลงทุนนั้น ปรากฎว่ามีการเพิ่มมาตรการเข้มและสกัดราคาหุ้นที่มีความผันผวน
ด้วยการเพิ่มมาตรการ “Circuit Breaker” รายหุ้นที่ปรับตัว ขึ้น/ลง 10 % ของราคาซื้อขายล่าสุด (หรือ Dynamic price band) เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป เพิ่ม “Auto halt “ รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าสัดส่วนฟลีโฟลต( Free float shares) เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ
เพิ่มมาตรการ Auction กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับซื้อขาย (T1 -T2 และ T3) ด้วยการ เปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ (Pre-open1, Pre-open2 และ Pre-close) โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ ซึ่งช่วงการซื้อขายช่วงเช้า (Break1 )และ ช่วงการซื้อขายช่วงบ่าย ( Break2) ไม่เปิดให้ส่ง คำสั่งซื้อขาย (order) แต่สามารถอัพเดทและยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ ( update / cancel order )
รวมทั้งทำระบบ Central order screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งยังมีระบบเชื่อมกับโบรกเกอร์ Central Platform ในการเช็คหลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับโบรกเกอร์และ ตลท. ตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 2ปี 2567
แหล่งข่าวบอร์ดตลท. เปิดเผยว่า บางมาตรการมองว่าเข้มเกินไป เช่น Circuit Breaker รายตัวไม่อยากให้เทียบกับกรณีดัชนี เพราะตลท. จะมีการพิจารณาเทียบกับมาร์เก็ตแคปและไล่ลงมาดูวอลุ่มของหุ้นนั้น ยิ่งนำมาขายซอร์ตด้วยจะพิจารณาสัดส่วนการนำมาซอร์ตถึงจะเข้ามาตรการ Circuit Breaker
ส่วน Auction คาดว่าจะนำมาใช้แทนมาตรการ Pause (P) หยุดพักซื้อขาย 1 วันหลังเข้ามาตรการ T3 รวมทั้งยกเลิก ราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด (Ceiling) / ลดลงต่ำสุด (Floor) ได้ไม่เกิน 30% ของราคาปิดในวันทำการก่อน เพื่อให้เกณฑ์กำกับดูแลได้ผล
รวมทั้งมาตรการต่างๆทาง สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย( ASCO) ได้รับรู้และหารือกับ ตลท.ตลอดแต่ยังไม่นิ่ง เช่น การใช้ Price limit รายหุ้นร่วมกับ Dynamic price band ทางสมาคมฯ อยากให้เปลี่ยนเข้าช่วง pre -open เป็นไม่เกิน 1-2 นาทีให้สอดคล้องกับตลาด USD future จากนั้นถึงจับคู่แบบ Auction
ส่วน Auto halt รายหุ้นยังต้องหาความเหมาะสมของสัดส่วนฟลีโฟลตควรเป็นเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีความชัดเจนการใช้มาตการเพิ่ม Circuit Breaker ,Dynamic price band ส่วน Auction น่าจะเริ่มใช้ได้ก่อนไตรมาส 2
“มาตราการเพิ่มเติมดังกล่าว ดูพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการส่งคำสั่งจากคนหรือเครื่อง รวมถึงนักลงทุนรายย่อยหรือสถาบัน หากมีการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม ทำให้ความผันผวนของราคาหุ้นผิดปกติ ถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งกรณี Naked Short Selling ขายหลักทรัพย์โดยที่โบรกเกอร์หรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองและไม่ได้รายงานให้สำหนักงานก.ล.ต. “
นางสาวชญานี โปขันเงิน กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ KFS กล่าวว่า บางมาตรการต่างประเทศไม่มีเช่น ceiling / floor เหมือนตลาดหุ้นไทยเพราะให้นักลงทุนต้องการซื้อขายที่ราคาเท่าไรให้จบกันในวันเดียวแต่ลักษณะการส่งคำสั่งต้องอยู่ในความเหมาะสม ข้อดีมองว่ารายย่อยจะไม่ตกไปเป็นเครื่องมือในเกมของหุ้นราคาร้อนแรง เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในวันเดียวอาจจะทำให้หุ้นปั่นหรือคนทำราคาหุ้นอาจจะเหนื่อยได้
ส่วนการสกัด naked short ตั้งระบบตรวจหุ้นก่อนสั่งขายยังไม่ทราบจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ โดยในวันที่ 29 ก.พ.นี้จะมีการเข้าประชุมกับตลท. และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมให้แน่ชัดอีกครั้ง เพราะปัจจุบันช่องโหว่ใหญ่ที่สุด naked short มาจากสถาบันที่อ้างว่าใช้คัสโตเดียนในลักษณะบัญชีออลมีบัส มีกฎหมายคุ้มครองเปิดเผยข้อมูล
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า มาตรการเพิ่มเติมของตลท.ที่ออกมาทั้งหมด มั่นใจว่าสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้จะมีมาตรการที่ทำได้ทันที ในไตรมาส 2 นี้ เช่น การปรับเพิ่มขนาดและสภาพคล่อง ที่สามารถทำ ขายชอร์ตได้เป็น 7,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากเกณฑ์ปัจจุบัน 5,000 ล้านบาท และกำหนด Monthly T/O ที่ 2% จากปัจจุบันไม่ได้กำหนดจะมีหุ้นที่รอดพ้นจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวอยู่พอสมควรเช่นกัน เป็นจังหวะและโอกาสเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นเหล่านี้ เช่น S , TIPH, MBK, HTC
“มาตรการดังกล่าว ที่ออกมาเพิ่มเติมของไทย คงไม่สามารถเอามาเทียบกับเกาหลีใต้หรือจีนที่คุมเน็กเก็ตซอร์ตถือว่าแฟร์กับนักลงทุนในประเทศ เพราะหากมาตรการเข้มเกินไปนักลงทุนหันไปลงทุนตลาดอื่นเป็นทางเลือกแทน"