'ตลาดหุ้นสหรัฐ' ปรับระบบใหญ่ในรอบ 100 ปี กลับมาใช้ T+1 ชำระบัญชีภายใน 1 วัน

'ตลาดหุ้นสหรัฐ' ปรับระบบใหญ่ในรอบ 100 ปี  กลับมาใช้ T+1 ชำระบัญชีภายใน 1 วัน

ตลาดหุ้นสหรัฐเปลี่ยนระบบการซื้อขายหุ้นในรอบ 100 ปี สู่ T+1 ให้ชำระบัญชีและส่งมอบหลักทรัพย์ภายใน 1 วัน จากเดิม 2 วัน หวังลดความผันผวน-เพิ่มสภาพคล่อง ดีเดย์แล้ว 28 พ.ค.

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ประกาศการเปลี่ยนแปลงระบบชำระบัญชีและส่งมอบหลักทรัพย์ “ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี” โดยกลับมาใช้รูปแบบ T+1 ที่ทำให้สามารถชำระบัญชีและส่งมอบหลักทรัพย์ภายใน 1 วันทำการ (เร็วขึ้นกว่าปกติ 1 วัน) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ  แจ้งไว้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 จะส่งผลให้ผู้ที่ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงหลักทรัพย์อื่น ๆ จะต้องชำระบัญชีการทำธุรกรรมและส่งมอบหลักทรัพย์ภายในหนึ่งวันทำการนับจากการซื้อขาย จากเดิมที่ใช้ระบบ T+2 ที่ใช้เวลาสองวันทำการ 

ระบบ T+1 หมายความว่า เงินจากการขายหุ้นจะต้องชำระบัญชีภายในหนึ่งวันทำการ นับจากวันที่ทำธุรกรรม หรือโอนไปยังบัญชีของผู้ขายภายใน 1 วันทำการ 

การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยง และความผันผวนของระบบ เพิ่มสภาพคล่อง และลดต้นทุนสำหรับนักลงทุน

ลดความเสี่ยงในการชำระบัญชี

การลดระยะเวลาการชำระราคาหุ้นจาก 2 วันทำการ เหลือเพียง 1 วันทำการ จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการซื้อขายและการชำระราคา เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และความเสี่ยงด้านระบบ

ลดข้อกำหนดด้านสภาพคล่อง

เมื่อนักลงทุนต้องใช้เงินทุนสำหรับการซื้อหุ้นเร็วขึ้น ย่อมส่งผลต่อความต้องการสภาพคล่องในระบบโดยรวม ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น และทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ลดข้อกำหนดด้านมาร์จิ้นและหลักประกัน

ด้วยระยะเวลาในการชำระราคาที่สั้นลง ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ก็น้อยลง ส่งผลให้โบรกเกอร์มีแนวโน้มที่จะกำหนดข้อกำหนดด้านมาร์จิ้นและหลักประกันที่ผ่อนคลายลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

 จำกัดความเสี่ยงของบริษัท

เมื่อบริษัทมีเวลาในการชำระราคาหุ้นที่สั้นลง ย่อมลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระราคา ส่งผลดีต่อสภาพการเงินของบริษัทโดยรวม

เพิ่มสภาพคล่องให้ตลาด

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน ทั้งนักลงทุน โบรกเกอร์ และผู้ให้บริการหลังการซื้อขาย จะสามารถจัดการเงินทุนและความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ดีขึ้น ด้วยระยะเวลาการชำระราคาที่รวดเร็วขึ้น

แม้ความหวังที่ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ยังมีบางฝ่ายที่กังวลว่าระบบ T+1 อาจสร้างปัญหาให้กับโบรกเกอร์และผู้ให้สภาพคล่อง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว SEC กล่าวว่า อาจจะมีการสะดุดในด้านธุรกรรม จนทำให้เกิดความล่าช้า และเกิดผลกระทบกับนักลงทุนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากมีเวลาในการตัดสินใจน้อยลง

รายย่อยได้ประโยชน์ ‘รายใหญ่-โบรกเกอร์’ ต้องปรับตัว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ “นักลงทุนรายย่อย” ได้รับประโยชน์จากระบบ T+1 มากที่สุด เนื่องจากพวกเขาจะสามารถเข้าถึงเงินจากการขายหุ้นได้เร็วขึ้น

ขณะที่นักลงทุนสถาบันบางรายอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากระบบ T+1 โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ ธนาคาร และผู้ให้บริการหลังการซื้อขาย จะต้องปรับระบบ กระบวนการ และเตรียมพนักงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ Securities Industry and Financial Markets Association (SIFMA) ได้ตั้งคณะกรรมการ T+1 Command Center เพื่อระบุปัญหาและประสานงานการแก้ไข ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆก็เตรียมความพร้อม ปรับระบบ และฝึกอบรมพนักงาน

การเปลี่ยนมาใช้ระบบ T+1 ของตลาดหุ้นสหรัฐ อาจเป็นแรงกดดันให้ตลาดอื่นๆ ปรับใช้ระบบ T+1 เช่นกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรอบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องและประสิทธิภาพของตลาดโดยรวม เช่น ประเทศที่ประกาศใช้ระบบ T+1 ไปแล้ว ได้แก่ จีน อินเดีย แคนาดา อาร์เจนตินา และเม็กซิโก

ขณะที่สหราชอาณาจักรคาดว่าจะปรับตามในปี 2570 ด้าน สหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบ เพื่อปรับใช้ระบบ T+1 ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในตลาดมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ท้าทายที่สุด แม้ว่าวอลล์สตรีทเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ลักษณะนี้มาแล้ว ย้อนไปเมื่อทศวรรษ 1920 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยุคนี้สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในปี 1929 สาเหตุหลักมาจากระบบการซื้อขายหุ้นที่ล้าสมัย ซึ่งใช้การทำธุรกรรมด้วยตนเอง ไม่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นได้