BTS งบปี 66/67 ขาดทุน 5.2 พันล้านโดน KEX ฉุด จ่อเพิ่มทุน PP เบื้องต้นขาย 5.36 บาท

BTS งบปี 66/67 ขาดทุน 5.2 พันล้านโดน KEX ฉุด จ่อเพิ่มทุน PP เบื้องต้นขาย 5.36 บาท

บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดงบปี 66/67 ขาดทุนมากถึง 5.24 พันล้านบาท การลงทุนใน บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) ฉุด พร้อมกันนี้บอร์ดยังมีมติงดปันผล และจะเพิ่มทุนวงจำกัด 650 ล้านหุ้น โดยราคาเพิ่มทุนเบื้องต้นคาดขาย 5.36 บาท แต่อาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดงบปี 66/67 ขาดทุน 5.24 พันล้านบาท การลงทุนใน บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) ฉุดโดยเป็นการรับรู้ครั้งเดียว ส่วนงบงวดปี 67/68 คาดผลงานดีขึ้นหลังกทม. จ่ายหนี้ 2.33 หมื่นล้านบาทแล้ว และหวังจะได้อีก 3.63 หมื่นล้านบาท  

นางสาวชวดี รุ่งเรือง ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลประกอบการ 12 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 ขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ 5,241.24 ล้านบาท พลิกลดลงจากงวดปีก่อน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2566 ที่กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ 1,836.48 ล้านบาท

คำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานระบุว่า บริษัทมีรายได้รวม จำนวน 24,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% หรือ 248 ล้านบาท จากปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจาก

(1) การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับ จำนวน 1,094 ล้านบาท และ (2) รายได้จากการบริการและการขายที่เพิ่มขึ้น จำนวน 726 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจสื่อโฆษณา ภายใต้ธุรกิจ MIX และการรับรู้รายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นครั้งแรก ควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ภายใต้ธุรกิจ MOVE

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้ดังกล่าวถูกหักกลบด้วย การลดลงของรายได้จากการให้บริการรับเหมา จำนวน 904 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูภายหลังการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

สำหรับการขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 5,241 ล้านบาทปัจจัยหลักจาก (1) ผลกระทบจากการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวของผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจำหน่ายเงินลงทุนใน KEX (2) การบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม (ส่วนใหญ่มาจากแรบบิท โฮลดิ้งส์' ควบคู่กับส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนใน KEX) และ (3) ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากหักรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (ซึ่งรวมถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าและจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน KEX ดังกล่าวข้างต้น) บริษัทรายงานกำไรสุทธิหลังปรับปรุงแล้ว จำนวน 275 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ (ก่อนรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ หลังหักส่วนที่เป็นของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย) อยู่ที่ 1.2%

ด้านมุมมองผู้บริหาร สำหรับปี 2567 สภาพัฒน์ ประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 2.0 - 3.0% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะลดลง 1.8% เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล และจากคาดการณ์ของตลาด อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 2.0% เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

ในส่วนของธุรกิจภายใต้บีทีเอส กรุ๊ป ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากมีการรับรู้รายได้ตามสัญญากับทั้งกทม. และภาครัฐ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566/67 บริษัทฯ ไม่ได้รับชำระรายได้ตามสัญญาดังกล่าวจากกทม. อันเนื่องมาจากข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดขึ้น ทว่าข้อกังวลเหล่านี้มีแนวโน้มคลี่คลายลง 

หลังจาก กทม. ได้ชำระเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ E&M จำนวนประมาณ 23.3 พันล้านบาท เมื่อ 2 เม.ย. 2567 บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการชำระคืนหนี้ O&M ในไม่ช้าเช่นกัน 

นอกเหนือจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่อง จำนวน 1.94 หมื่นล้านบาท การได้รับชำระหนี้ E&M รวมถึงหนี้ O&M ที่คาดว่าจะได้รับชำระ อีกจำนวน 3.63 หมื่นล้านบาท และเงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง จำนวน 4.8 พันล้านบาทต่อปีจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดของบีทีเอส กรุ๊ป อย่างมีนัยสำคัญ

คณะกรรมการบริษัทมีมติงดปันผล และจะเพิ่มทุนวงจำกัด 650 ล้านหุ้น 

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ให้กำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 ก.ค. 2567 (กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม 18 มิ.ย. 2567) โดยมีวาระสำคัญได้แก่ วาระการเพิ่มทุน, วาระการงดจ่ายเงินปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย. 2566 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 และวาระการพิจารณา อนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายเพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ

สำหรับการเพิ่มทุนกำหนดเป็นแบบการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนหุ้นสามัญที่เพิ่มทุน 650,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 4.00 บาท จัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) ราคาเสนอขายที่ 5.36 บาทต่อหุ้นภายใต้สมมติฐานว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้รับการจองซื้อเต็มทั้งจำนวน

โดยเป็นราคาเสนอขายโดยมีส่วนลดร้อยละ 10 ของราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย้อนหลัง 7 วันทำการติดต่อกันก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอวาระเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งเท่ากับ 5.95 บาท

ทั้งนี้ ราคาเสนอขายสุดท้ายจะถูกพิจารณากำหนดอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนในแต่ละครั้ง