‘SABUY’ จนแต้ม ยังไร้ทางฟื้นความเชื่อมั่น
“ความเชื่อมั่น บจ. ” ตลาดหุ้นไทยถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อมีเคสหุ้นสร้างตัวเลขรายได้ - กำไร จากการลงทุนในธุรกิจอื่นจำนวนมาก ผ่านการใช้เครื่องมือในตลาดทุน นำเงินออกไปจากบัญชีจากบริษัท และสุดท้ายเหลือแต่บริษัทที่แบกรับหนี้ไว้จำนวนมาก
บริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY จากหุ้นเล็กใน MAI ระดมทุนไอพีโอปลายปี 2563 จำนวน157 ล้านหุ้น ราคา 2.50 บาท มีมูลค่าระดมทุนได้เกือบ 400 ล้านบาท ด้วยการทำธุรกิจตู้เติมเงิน และตู้เวนดิ้งแต่เลือกเติบโตในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักพา ราคาหุ้นทะยานเกือบ 30 บาท จนมาสู่ราคาไม่ถึงบาทในวันนี้
ที่สำคัญยังไม่เห็นอนาคตจะไปในทิศทางไหน เมื่อ “ทุนเก่า – เจ้าของเดิม” กวาด “ขายหุ้นออกไป” ให้ทุนใหม่เข้ามาแถมเปิดว่าเป็นนามสกุลดัง “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” กลับเกิด ดีลล้ม ซะแล้วทั้งที่ใกล้จะใส่เงินเพิ่มทุนเกิดขึ้น โดยผู้ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน “Lightnet” “อานนท์ชัย วีระประวัติ” และ “Hiwell Global “ ยกเลิกการเพิ่มทุน 1,300 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.30 บาท ด้วยสาเหตุ “ราคาหุ้น” ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนราคาไม่เหมาะสมเข้าลงทุน
ระยะเวลา 3 ปี( 2564 -2566 ) SABUY ใช้กลยุทธ์ สร้างความคาดหวังการเติบโตผลักดันราคาหุ้น ด้วยกลยุทธ์ “ลงทุน” ถือหุ้น ไม่เกิน 40% ธุรกิจที่สร้าง Ecosystem เห็นได้ชัดปี 2564 -2565 หลังขยับเข้าซื้อขายในตลาด SET มีการลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 10 บริษัท เช่น การลงทุน เอ.ที.พี.เฟรนด์ เซอร์วิส เพื่อขายแฟรนไชส์บริการไปรษณีย์ Ship smile จนเกิด ‘สปีดดี้ เอ็กเพรส เซอร์วิส’ ตามมาด้วย ‘สบายดิจิตอล’ ‘สบายแคปิตอล พลัส’ ทำให้ราคาหุ้นปี 2564 แตะระดับ 23-24 บาท
จนปี 2565 รายการลงทุนก้อนใหญ่เริ่มตามมาด้วยการเพิ่มทุนต่อเนื่อง เช่น ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนครหลวง แคปิตอล 779 ล้านบาท บัซซีบีส (BZB) 970 ล้านบาท สวอปเพื่อถือหุ้น แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) มูลค่า 709 ล้านบาท สวนทางกับราคาหุ้นเริ่มปรับฐานลงเช่นกัน
จนขยับเลเวลเข้าลงทุนระดับพันล้านบาท “เธียรสุรัตน์” (ปัจจุบัน SBNEXT) 533 ล้านบาท การเข้าลงทุน 40% “ดับเบิ้ลเซเว่น” 1,360 ล้านบาท แต่ที่สร้างความกังขาคือ ลงทุน “เอเชีย ซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ AS (ปัจจุบันชื่อแอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์)จำนวน 73 ล้านหุ้นสัดส่วน 15% มูลค่า 1,828 ล้านบาท และซื้อเพิ่มเติมจนเข้าข่าย Tender Offer ด้วยมูลค่า 7,100 ล้านบาท หลัง AS เข้าซื้อหุ้น บิทคับ ออนไลน์ 9.22% รวม 150 ล้านบาท ซึ่ง SABUY ให้กู้ 130 ล้านบาท สุดท้ายดีลต้องล่มเมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธปล่อยสินเชื่อเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้
นอกจากลงทุนเพื่อธุรกิจ SABUY นำเงินไปลงทุนในหุ้นจำนวนมาก เช่น ซื้อหุ้น RS 15 ล้านหุ้น จำนวน 255 ล้านบาท รวมถึงใช้เงินซื้อหุ้น SABUY เองผ่าน SBNEXT ปี 2566 จำนวน 72 ล้านหุ้น และมีหุ้นอื่นคิดเป็น 93% สินทรัพย์รวม และปีไตรมาส 1/ 2567 จำนวน 170 ล้านหุ้น และหุ้นอื่นๆ คิดเป็น 8% สินทรัพย์รวม
ที่สำคัญยังเป็นเงินกู้ยืมมาจาก SABUY จำนวน 889 ล้านบาท ด้วยดอกเบี้ย 6.3-6.4% จนทำให้ SABUY ต้องตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งจำนวนในงบไตรมาส 1 ปี 2567
จนสุดท้ายจากบริษัทที่เติบโตดีกลับขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ที่ 189 ล้านบาท และไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ 1,960 ล้านบาท กลับไม่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจกลับมาจากการตั้งด้อยค่าความนิยม และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น รวมทั้งเงินให้กู้ยืม แก่ SBNEXT ทั้งจำนวนรวม 1,464 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน ดับเบิ้ลเซเว่น 996 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์