‘เงินอ่อนค่า’ บริษัทเอเชียแห่ออกหุ้นกู้ทุบสถิติ กว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์
บริษัทในเอเชียแห่ออกหุ้นกู้ไตรมาส 2 สูงสุดทุบสถิติใหม่กว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ ไตรมาส 2 ปีนี้ สูงกว่าปีที่แล้ว 12% หลังต้นทุนกู้ยืมในประเทศต่ำกว่า ‘ดอลลาร์’ นักลงทุนมองหาการลงทุน ‘ผลตอบแทนสูง’ ดันตลาดตราสารหนี้โลกคึกคัก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกออก "หุ้นกู้" สกุลเงินท้องถิ่นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มากกว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 21.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินภายในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ยืมเงิน "ดอลลาร์" ส่งผลให้การออกหุ้นกู้สกุลท้องถิ่นของเอเชียตลอดทั้งปีนี้ (1 ม.ค.- 20 มิ.ย.) ทะยานขึ้นไปแตะระดับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว
การระดมทุนผ่านหุ้นกู้ส่วนใหญ่ในภูมิภาคมาจากบริษัทใน “จีน” ที่ออกหุ้นกู้สกุลเงินหยวน (CNY) ภายในประเทศ เนื่องจาก ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้สกุลเงินหยวนอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งช่วยให้บริษัทจีนสามารถระดมทุนได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการกู้ยืมจากต่างประเทศ
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้อยู่แค่ในจีนเท่านั้น โดยข้อมูลสะท้อนว่าในปีนี้บริษัท “ญี่ปุ่น” และ “ออสเตรเลีย” ต่างก็ออกหุ้นกู้ในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และนักลงทุนมองหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงผลักดันให้มีการออกตราสารหนี้จำนวนมากในปีนี้ โดยตลาดซื้อขายตราสารหนี้หลักๆ ของโลก ทั้งสกุลเงินท้องถิ่น และดอลลาร์มีการซื้อขายคึกคักที่สุดในรอบหลายปี
ตลาดตราสารหนี้เอเชียคึกคัก
ในช่วงครึ่งปีนี้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกออกหุ้นกู้ไปแล้ว 3.55 ล้านล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับสถิติซึ่งเคยทำไว้ที่ 3.66 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนของตลาดหุ้นกู้ในเอเชียแปซิฟิก
คาร์ลา กูดจ์ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มพันธบัตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “คาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต เนื่องจากตลาดภายในประเทศจำนวนมาก ในขณะนี้สามารถเสนอเงื่อนไขการระดมทุน เช่น วงเงิน และระยะเวลาที่สามารถแข่งขันกับตลาดหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ได้มากขึ้น การเฟื่องฟูของฐานะทางการเงินในเอเชีย สร้างฐานนักลงทุนที่แข็งแกร่งสำหรับสินทรัพย์หลายประเภท รวมถึงตราสารหนี้ ส่งผลให้เกิดสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วทั้งภูมิภาค”
การที่บริษัทต่างๆ เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินท้องถิ่นพุ่งสูงในปีนี้ สะท้อนว่าตลาดตราสารหนี้ในเอเชียเติบโตขึ้น โดยยอดการขายหุ้นกู้ภายในประเทศของทั้งจีน และอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
อีกปัจจัยกระตุ้นตลาดตราสารหนี้ให้คึกคักก็คือ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มภาระต้นทุนในการชำระหนี้สำหรับบริษัทที่ไม่มีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์
ยอดขายตราสารหนี้สกุลท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พุ่งทะลุ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยข้อมูลชี้ว่าบริษัทจีนเป็นผู้นำในการระดมทุนครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด
ผลตอบแทนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ในตลาดตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียอย่างจีน การพิจารณาออกตราสารหนี้ง่ายขึ้นมาก หลังจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำกว่าของเฟด ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ระดับ AAA อายุ 5 ปี อยู่ที่ประมาณ 2.3% ซึ่งลดลงประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ของบริษัทในสหรัฐ เนื่องจากทางการจีนกำลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวลงจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์
แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไปแล้วในเดือนมีนาคม ทว่าบริษัทในญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยก็ยังคงจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า 1% สำหรับการขายหุ้นกู้สกุลเงินเยน ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำมากอยู่ดี ทำให้บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นได้ระดมทุนผ่านการขายหุ้นกู้สกุลเงินเยนทำสถิติสูงสุดที่กว่า 7.7 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) ในปี 2567
นอกจากนี้ บริษัทออสเตรเลียมีการออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 รวมเป็นมูลค่าประมาณ 56,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ในปีนี้
โอมาร์ สลิม รองหัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ประจำภูมิภาคเอเชียของ PineBridge Investments มองว่า ข้อดีประการหนึ่งของการที่บริษัทต่างๆ เสนอขายหุ้นกู้มากขึ้นนั้น สามารถลดความเสี่ยงการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ และกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
อ้างอิง Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์