โบรกฯ อาจหั่นกำไร 4 หุ้น รพ. BCH - CHG - RJH - BDMS หวั่นประกันสังคมงบไม่พอ

โบรกฯ อาจหั่นกำไร 4 หุ้น รพ. BCH - CHG - RJH - BDMS หวั่นประกันสังคมงบไม่พอ

"บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส" ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเป็น Overweight มี BH และ PR9 เป็นหุ้นเด่น ทว่าห่วงโรงพยาบาลขนาดกลางที่พึ่งรายได้ประกันสังคม BCH, CHG, RJH และ BDMS อาจโดนปรับประมาณการลง จากความเสี่ยงงบประมาณการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายไตรมาส 4 /67 ไม่เพียงพอ

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในบทวิเคราะห์ ว่า ยังคงให้น้ำหนักลงทุน Overweight กลุ่มโรงพยาบาล มีหุ้น Top Picks เป็น BH และ PR9 มองว่าแนวโน้มระยะยาวของภาคสาธารณสุขยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ, แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs), ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับกรท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และความต้องการประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น คาดว่าค่ใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจาก 605,000 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 1.407-1.825 ล้านล้านบาท ในปี 2573  

ทว่าความเสี่ยงของโรงพยาบาลขนาดกลางที่มีรายได้จากประกันสังคมสูง คือ การได้รับเงินชดเชยค่าบริการรักษาที่มีต้นทุนสูง (AdjRW≥2)  ล่าช้าหรือได้รับน้อยกว่าที่โรงพยาบาลขอรับชดเชยไป ทั้งนี้กองทุนทดแทนการเจ็บป่วยทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต คิดเป็น 5 % ของกองทุนสำรองทั้งหมดของสำนักงานประกันสังคม (SSO)

รายได้จาก SSO เป็นความเสี่ยงในครึ่งหลังปี 2567  คาดว่าจะมีการกลับรายการรายได้จากประกันสังคม (SSS) อีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของบริการรักษาที่มีต้นทุนสูง (AdjRW≥2)  สำหรับยอดชำระเงินในช่วงพ.ย.-ธ.ค. 2566 ที่จะจ่ายในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากงบประมาณในส่วนการรักษาพยาบาลไม่เพียงพอ 

สาเหตุหลักมาจาก 1.จำนวนผู้ประกันนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด และ 2.จำนวนผู้ป่วยใน (IPD) ที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาโรคชับช้อนมากขึ้นและสังคมผู้สูงอายุที่ใหญ่ขึ้น
 

ผลกระทบ คือ กำไรสุทธิของโรงพยาบาลระดับกลางลดลงประมาณ 3-4% จากประมาณการเดิม ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรสุทธิของ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH, บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG, บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ RJH และ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ในปี 2567 อาจลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 3.0%, 3.6%, 3.0% และ 0.2% ตามลำดับ

ในปัจจุบันกองทุนสำรองของสำนักงานประกันสังคม (SSO) ยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2566 มีเงินสำรองประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้มีรายรับเข้ามา 2.93 แสนล้านบาท สูงกว่ารายจ่ายที่ 1.56 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2558-2566 กองทุนสำรองของ SSO เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยรายรับและรายจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% และ 10% ต่อปี