"กรมสอบสวนคดีพิเศษ" ขยายผลฟันเพิ่มโกง STARK
"ดีเอสไอ" เดินหน้าคดี STARK ยึดทรัพย์แล้วกว่า 3 พันล้าน จากความเสียหาย 1.47 หมื่นล้าน รุดขยายผลหลังได้ตัว "ชนินทร์" มาแล้ว ผู้ต้องหาทุกรายอยู่ในเรือนจำรอศาลตัดสิน นัดแรก 14 ม.ค. 68 นัดสุดท้าย ธ.ค. 68 ขณะที่ "พิชัย นิลทองคำ" ถอนตัวประธานคณะทำงาน ตั้ง "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" คุมแทน
วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลาประมาณ 13.30 น. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายการเมือง พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการติดตามทรัพย์สินในคดีทุจริตหุ้น STARK คดีพิเศษที่ 57/2566
กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นทางคดีและส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 และต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม จำนวน 11 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ (สงวนนามสกุล) อดีตประธานกรรมการบริษัท นายวนรัชต์ (สงวนนามสกุล) อดีตกรรมการบริษัท นายศรัทธา (สงวนนามสกุล)อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน นายกิตติศักดิ์ (สงวนนามสกุล)อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นางสาวยสบวร (สงวนนามสกุล) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและกรรมการบริษัทย่อย นางสาวนาตยา (สงวนนามสกุล) อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โดยภายหลังจากที่มีการจับกุมนายชนินทร์ฯ ผู้ต้องหาคนสำคัญ ทำให้ปัจจุบันพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญาครบถ้วนแล้ว ซึ่งผู้ต้องหาทุกรายอยู่ในการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยกำหนดวันนัดพิจารณาคดีนัดแรก ในวันที่ 14 มกราคม 2568 จนถึง นัดสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2568
ในส่วนของความเสียหายในคดีอาญาคดีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 14,778 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ จำนวน 9,198 ล้านบาท และหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 5,580 ล้านบาท โดยที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ปปง. ได้มีการยึด/อายัดทรัพย์สินรวมจำนวนประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาและศาลอาญาก็มีคำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สินของบริษัท สตาร์คฯ และบริษัทที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีที่มีการโอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน
โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีกับบุคคลที่โอนและรับโอนโดยมิได้มีมูลหนี้ ตามกฎหมาย โดยเฉพาะการรับโอนเงินจากอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน คือนายศรัทธาฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมร่วมกับสำนักงาน ปปง. เป็นคดีพิเศษที่ 32/2567 รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษยังมีการพิจารณาดำเนินคดีกับกรรมการบางรายเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวหา
สำหรับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งแต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (STARK) นั้น เนื่องจากนายพิชัยฯ แจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะทำงานฯ ดังกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 171/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งแต่งตั้งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะทำงานฯ แทน และมีการเพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้ามาเป็นคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าวต่อไป