เปิดรายได้ ‘10 หุ้นอสังหาฯ’ ทรุด​ ลุ้นครึ่งหลังรัฐกระตุ้นธุรกิจฟื้น

เปิดรายได้ ‘10 หุ้นอสังหาฯ’ ทรุด​ ลุ้นครึ่งหลังรัฐกระตุ้นธุรกิจฟื้น

สำรวจผลประกอบการแง่ “รายได้” Q1/2567 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนของ “10 อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่” ในตลาดหุ้นไทย พบ SIRI เพิ่มขึ้น 28.93%, AP ลดลง -15.6%, LH ลดลง -0.21%, SPALI ลดลง -20.8%, PSH ลดลง -36.79%, SC ลดลง -18.36%, FPT ลดลง -17.27%, ORI ลดลง -18.66%, PF ลดลง -7.45% และ QH ลดลง -9.32%

เปิดผลประกอบการ “10 หุ้นอสังหาฯ” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบ “แสนสิริ” รายได้เติบโตเด่นสุด ลุ้นครึ่งหลังปี 2567 มาตรการรัฐออกมากระตุ้น ชี้ตลาดระดับล่างยังไม่ฟื้น หลังหนี้ครัวเรือนยังสูง-แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ ด้าน “บล.เคจีไอ” ลั่นอสังหาฯ รายใหญ่ยังได้เปรียบด้านการแข่งขัน เหตุมีสายป่าน “เงินทุน” ยาวกว่ารายเล็ก “บล.ลิเบอเรเตอร์” ประเมินตลาดแนวราบ “ระดับกลาง-บน” ดีมานด์มากสุด

นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่ “อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์” ต้องปรับตัว และปรับกลยุทธ์ใหม่ ทั้งการแข่งขัน-จำนวนเปิดโครงการใหม่ หลังอุตสาหกรรมอสังหาฯ เผชิญกับ “ความท้าทาย” รอบด้าน ทั้งในแง่ของ “กำลังซื้อถดถอย-หนี้สินครัวเรือนสูง-เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่”

สารพัดปัจจัยลบดังกล่าว ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และซ้ำเติมด้วยปัญหาใหญ่ “การขอสินเชื่อไม่ผ่าน” ทำให้เหล่าผู้พัฒนาอสังหาฯ ทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก จำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ทั้ง“แผนรับ-แผนรุก” เพื่อหวังดึงดูด “กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง” จึงเกิดปรากฏการณ์ “บ้านระดับลักชัวรี” ถูกยึดพื้นที่ในตลาด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นทั้ง“โอกาส” และ “วิกฤติ” ให้กับบางบริษัทเฉกเช่นกัน

“10 อันดับ” อสังหาฯ รายใหญ่ตลาดหุ้นไทย

“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจผลประกอบการในแง่ “รายได้” ไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนของ “10 อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกอบด้วย

1.บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI มีรายได้อยู่ที่ 10,225.72 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 7,931.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.93%

2.บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP มีรายได้ที่ 7,968.31 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 9,441.41 ล้านบาท ลดลง -15.6%

3.บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH มีรายได้ที่ 6,928.63 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6,943.02 ล้านบาท ลดลง -0.21%

4.บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI มีรายได้ที่ 4,674.33 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5,901.71 ล้านบาท ลดลง -20.8%

5.บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH มีรายได้ที่ 4,170.69 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6,598.01 ล้านบาท ลดลง -36.79%

6.บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC มีรายได้ที่ 4,024.35 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 4,929.54 ล้านบาท ลดลง -18.36%

7.บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT มีรายได้ที่ 3,066.32 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3,706.32 ล้านบาท ลดลง -17.27%

8.บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มีรายได้ที่ 2,878.77 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3,539.03 ล้านบาท ลดลง -18.66%

9.บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF มีรายได้ที่ 2,526.16 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2,729.64 ล้านบาท ลดลง -7.45%

และ10.บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH มีรายได้ที่ 1,797.84 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1,965.54 ล้านบาท ลดลง -9.32%
 

“บล.เคจีไอ” ชี้อสังหาฯ รายใหญ่ได้เปรียบด้าน “เงินทุน”

นายสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อตลาดอสังหาฯ ในครึ่งหลังปี 2567 ว่า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางตลาด โดยเฉพาะตลาดระดับกลางบนจนถึงระดับบน (Luxury) จากช่วงครึ่งแรกที่ตลาดอสังหาฯ ค่อนข้าง “ซบเซา” โดยเฉพาะตลาดระดับล่าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยรุมเร้า อย่าง ปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว

สะท้อนผ่านในไตรมาส 2 ปี 2567 เช่น “ยอดพรีเซล” (Pre-Sale) ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP เพิ่มขึ้น ส่วนรายอื่นๆ ค่อนข้างแย่ ซึ่งในภาพรวมปัจจุบันบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ยังได้เปรียบการแข่งขันมากกว่าผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ พบว่าในสภาวะที่ยอดการขายไม่ดีนัก ผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางรายสามารถปรับกลยุทธ์จำหน่ายทิ้งทั้งโครงการในราคาส่วนลดสูงเพื่อสร้างกระแสเงินสด เพื่อเป็นการพยุงธุรกิจได้ ทว่าผู้ประกอบการที่มีโครงการจำนวนน้อยไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

สำหรับ ครึ่งหลังปี 2567 คาดหวังทั้งอุตสาหกรรมอสังหาฯ ฟื้นตัวได้ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาล แม้ยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาแล้วในครึ่งปีแรกยังไม่มีประสิทธิผลมากพอ เนื่องจากกดดันด้วยระดับตัวเลขหนี้สินครัวเรือนทรงตัวสูง อีกทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อกู้เงิน ส่วนทิศทางดอกเบี้ยไทยคาดจะไม่ปรับลงตลอดปีนี้ ดังนั้น อาจยังมิใช่ปัจจัยที่จะกระตุ้นกำลังซื้อได้

“ครึ่งปีแรกภาพรวมไม่ค่อยดี ครึ่งปีหลังก็คงต้องหวังว่า ถ้ามาตรการภาครัฐต่างๆ เช่น เรื่องสนับสนุนต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ออกมาใช้ได้จริง แล้วได้ผล ตลาดก็น่าจะฟื้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้หวังเยอะ”

อย่างไรก็ตาม ประเมินหากครึ่งปีหลังไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติม การฟื้นตัวจะอยู่เพียงบางกลุ่มในตลาดระดับกลางค่อนไปทางบน ซึ่งมีดีมานด์มากกว่าตลาดระดับกลางถึงระดับล่างอย่างชัดเจน

“บล.ลิเบอเรเตอร์” ชี้ลูกค้ามีกำลังซื้อดีเป็น “กลุ่มกลางบน-ระดับบน”

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ไตรมาส 2 ปี 2567 เริ่มเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นกว่าไตรมาสแรก ทว่าตัวบ่งชี้สำคัญคือ ยอดพรีเซลไม่ได้ดีขึ้นมากระดับเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจน ดังนั้น กำลังซื้อจริงมีไม่มากนัก มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่ออกมาแล้วยังไม่ได้ส่งผลบวก ซึ่งคาดผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 ที่กำลังประกาศออกมาอยู่ระดับปานกลาง

สอดคล้องกับความต้องการซื้อในตลาดอสังหาฯ ยังคงอยู่ใน “ดีมานด์จริง” (Real Demand) ต่อไปในกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว, ทาวน์โฮม ขณะที่ยังมีความต้องการเบาบางในที่อยู่อาศัยแนวดิ่งคือ คอนโดมิเนียม และประเภทการซื้อเพื่อเก็งกำไร

สำหรับ กลุ่มระดับราคาที่ลูกค้ามีกำลังซื้อดีเป็น “กลุ่มกลางบน-ระดับบน” ตั้งแต่ราคาราว 5 ล้านบาทขึ้น ส่วน “กลุ่มล่าง-กลางล่าง” แม้มีต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่ติดอุปสรรคเรื่องสถาบันการเงิน (แบงก์) เข้มงวดพิจารณาปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้น หากเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีขึ้น มีโอกาสที่อสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวตามในช่วงปลายปี แต่โดยความเป็นไปได้ ภาพการดีขึ้นเป็นไปลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคประชาชนยังน่าจะไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยมากจากกำลังซื้อลดลง

“ครึ่งปีหลังดีกว่าขึ้นปีแรกอยู่แล้ว ดีขึ้นแบบช้าๆ ซึ่งกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่คือ กลาง-บน ในที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ ส่วนกลุ่มกลาง-ล่างก็อาจมีดีมานด์แต่ไม่มีกำลังซื้อ”

โดย แนะนำลงทุนหุ้นอสังหาฯ ยังแนะนำให้ “รอคอยไปก่อน” จนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวยอดพรีเซลที่ชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันราคาหุ้นได้ปรับลงมามากแล้ว

“บล.ทิสโก้” ชี้ไตรมาส 2 ยอดจองฟื้นตัว

บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ยอดจองรวมในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2567 โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 1 ปี 2567 แม้จะมีการเลื่อนการเปิดตัวโครงการสำหรับผู้ประกอบการหลายราย แต่ผลกระทบโดยรวมต่อยอดจองดูเหมือนจะมีน้อย

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มระดับ Luxury และอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้น ยอดจองโครงการ Low-Rise แสดงการปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อน แนวโน้มเชิงบวกนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของโมเมนตัมในช่วงเดือนมิ.ย.2567 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่อาจเกิดขึ้นสำหรับกลุ่มนี้

ขณะที่ ยอดจองในเดือนก.ค.นี้ อาจชะลอตัวลงเนื่องจากวันหยุดและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ยังคงมีความคาดหวังสูงสำหรับการฟื้นตัวของโมเมนตัมในช่วงเดือนก.ย. และตลอดไตรมาสสุดท้ายปี 2567

“แนวโน้มโดยรวมสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยบวกที่อาจเกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในข้อจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ และเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่ผ่อนคลายลง ส่วนความเสี่ยงด้านลบคือ การไม่มีหรือการกลับทิศทางของปัจจัยบวกเหล่านี้”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์