วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’? เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’?  เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

ผ่ากฎหมายขยายช่อง "ต่างชาติ" ถือครองอสังหา ศึกวิวาท “ช่วยชาติ-ขายชาติ”  ย้อนรอย2รัฐบาล "ทักษิณคิด-ประยุทธ์ทำ(ถอย)-เพื่อไทยสานต่อ"

KEY

POINTS

  • "ขยายช่อง" ต่างชาติถือครองอสังหา จุดยืนเพื่อไทย บนเส้นแบ่งบาง ๆ“ช่วยชาติ-ขายชาติ” 
  • ย้อนรอย2รัฐบาล "ทักษิณคิด-ประยุทธ์ทำ(ถอย)-เพื่อไทยสานต่อ"
  • เกมฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น "เศรษฐา" กับปมเสี่ยงซ้ำรอย40สว.ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ

ปมถกเถียงที่ลามไปถึงการขุดวาทกรรม “ขายชาติ”  ดังก้องขึ้นเป็นระยะ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาแนวทางแก้กฎหมาย 2 ฉบับ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ขยายเช่าเป็น 99 ปีจาก 30 ปี และเพิ่มโควตาต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียม 75% ในทำเลซีบีดีในกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต พัทยา เพื่อรองรับดีมานด์ต่างชาติที่เข้ามามากขึ้น

ทว่าเพียงแค่ “ตั้งไข่” นโยบายดังกล่าวกลับตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พุ่งตรงเต็มๆไปที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล ไล่ขุดไปถึง “จุดยืน”สมัยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลที่แล้ว 

ย้อนกลับไปในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงปลายรัฐบาลครม.มีมติเห็นชอบออกกฎกระทรวงให้ชาวต่างประเทศซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ในจำนวนไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีในธุรกิจหรือกิจการประเภทที่กำหนด

นำมาสู่การแถลงคัดค้าน จากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  “99 พลเมือง” หรือแม้แต่ “พรรคเพื่อไทย” ที่เวลานั้นสวมบทเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน 

เหตุผลที่ “คณะทำงานเศรษฐกิจ” พรรคเพื่อไทย แถลงคัดค้านนโยบายดังกล่าวคือ คนไทยประมาณ 80% ยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หากให้ต่างชาติเข้าซื้อที่ดินได้ จะยิ่งทำให้คนไทยหมดโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น อีกทั้งไม่สามารถเทียบสหรัฐฯได้ เนื่องจากรายได้ต่อหัวของประชากรสหรัฐสูงกว่า

วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’?  เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

ย้อนรอยวิวาทะ"ขายชาติ(โดยไม่เจตนา)"

ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการตั้งกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร  โดย “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(ประธานวิปฝ่ายค้าน) ในเวลานั้น ถามพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งข้อสังเกตุประเด็น “กฎหมายขายชาติ” 

คำถามที่ “สุทิน” ถามในสภาคือ อยากทราบว่า มีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องมีมตินี้ออกมา รัฐบาลก่อนที่ทำมาตรการนี้ เพราะมีความจำเป็นต้องทำ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ไอเอ็มเอฟ (IMF) ปี พ.ศ. 2542 ที่ไปกู้เงินมา ทำให้รัฐบาล ปี 2545 ออกมาตรการให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินได้ แต่เป็นการทำด้วยความรอบคอบ มีมาตรฐาน ทำให้มีชาวต่างชาติมาซื้อดินแค่ 7-8 ราย ควบคุมได้ผล

“แต่ขณะนี้มีความจำเป็นบีบบังคับอะไร ต้องออกมาตรการนี้ ถ้าอ้างเรื่องปัญหาเศรษฐกิจแสดงว่า รัฐบาลจนมุมทางเศรษฐกิจ การเงินการคลังลำบาก ต้องพึ่งเงินต่างชาติ ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ เกรงจะเกิดความไม่มั่นคงในชาติ เนื่องจากโครงสร้างเราอ่อนแอกว่าต่างประเทศ คนไทยยอมเป็นนอมินีให้ต่างชาติ เชื่อว่า ไม่มีใครคิดขายชาติ แต่หลายคนกังวลเป็นการขายชาติโดยไม่เจตนา” นายสุทิน ถามกลางสภาฯเมื่อวันที่3พ.ย.2565

วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’?  เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

“ทักษิณ”คิด “ประยุทธ์”ทำ(ประยุทธ์สั่งถอย) 

ขณะที่ฝากฝั่งรัฐบาลเวลานั้น “บิ๊กป๊อก”  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นตัวแทนรัฐบาล ชี้แจงว่า การออกมาตรการนี้มาจากคณะกรรมการเศรษฐกิจเชิงรุก เพราะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมาลงทุน โดยมีแรงดึงดูดเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อให้เข้ามาลงทุนระยะยาว และมีเงื่อนไขรัดกุมกว่าเดิม

“ไม่มีเจตนาจะไปขายชาติ ไม่มีใครทำเช่นนั้นหรอกครับ ผมเชื่อมั่นว่าคนในรัฐสภาแห่งนี้ ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คงไม่มีใครมีเจตนาจะทำเช่นนั้น” พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงต่อสภา 

ส่วนที่เกรงคนต่างชาติจะซื้อที่ดินจำนวนมากเป็นผืนใหญ่นั้น เตรียมจะออกกฎเกณฑ์รองรับ ไม่ให้ซื้อที่ดินแปลงติดกัน ทำเป็นหมู่บ้านได้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องนำเรื่องนี้ไปรับฟังความเห็นประชาชนก่อน เราอาจจะกำหนดให้เข้มงวดหรือยากกว่านี้ เช่น เพิ่มการลงทุนเป็น 100 ล้านบาท หรือกว่า 100 ล้านบาท หรือเพิ่มเวลาลงทุนจาก 3 ปี เป็น 10 ปี แล้วส่งให้ ครม. พิจารณาใหม่ หรือ “อาจจะล้ม” ก็ได้

วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’?  เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

ยิ่งไปกว่านั้น ในห้วงเวลาเดียวกันมีการพูดถึงประเด็นการยกร่างกฎกระทรวงเป็นวงกว้าง

บางมุมมองว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ร่างขึ้นมาใหม่ เป็นเพียงการยกร่างกฎกระทรวงเดิม ซึ่งออกเมื่อปี 2545 สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ บางมุมเปรียบเปรยว่าเป็น นโยบาย “ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ”  เสียด้วยซ้ำ

ทว่าในมุมของพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้เห็นเช่นนั้น แถมย้ำว่า จะเดินหน้าคัดค้านการออกกฎหมาย และหากได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล จะดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับฉบับปี 2545

ด้วยกระแสต่อต้านที่รุนแรงในเวลานั้น ท้ายที่สุด “ครม.ประยุทธ์”  ได้เห็นชอบให้ “ถอนร่างกฎกระทรวง” ฉบับดังกล่าวออกเพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม  

ถือว่านโยบายดังกล่าวเป็นอันต้อง “แท้ง” ไปโดยปริยายในช่วงปลายรัฐบาลประยุทธ์ เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา ในเวลาอีกไม่นานนับจากนั้น 

 "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" วาทกรรม“ช่วยชาติvsขายชาติ”

ผ่านไปไม่ถึง2ปีการเมืองวนลูปกลับมาที่ปมถกเถียงในประเด็นดังกล่าวในวันที่ “พรรคเพื่อไทย” แปรเปลี่ยนจากฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล  นอกเหนือจากที่ วลี“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งแล้ว 

ยังลามไปถึงวาทกรรมบนเส้นบางๆระหว่างคำว่า “ช่วยชาติ” และ “ขายชาติ” ในเวลานี้

สัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี  ย้ำหนักแน่น เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ไปศึกษาคือเรื่องของการ “เช่าระยะยาว”  ไม่ได้เป็นการ “ขายที่ดิน”  จึงไม่เกี่ยวอะไรกับการขายชาติ

ไม่ต่างจาก “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ยืนยันทำนองเดียวกัน ไม่ได้เป็นการให้สิทธิขาดกับชาวต่างชาติ ปัจจุบันกฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 30 ปี และในพื้นที่พิเศษที่ให้เช่า 50+50 ปี เป็นเพียงการเปิดช่องให้มีกลไกในการจูงใจมากขึ้น ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนการถือครองห้องชุดจาก 49% เป็น 75% นั้นยังจำกัดสิทธิในการโหวตบริหารจัดการนิติบุคคลของต่างชาติ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเรื่องอาณาเขต และสิทธิสภาพบนพื้นดินของคนไทย

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลากหลายเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีความพยายามเชื่อมโยงไปถึง “นายทุน” อสังหายักษ์ใหญ่ บางแห่งที่มีความใกล้ชิด กับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง ขยี้ปมไปถึงประเด็น“สมประโยชน์” ร่วมกัน

วนลูปวาทะ‘ช่วยชาติ-ขายชาติ’?  เทียบ2ยุค‘ต่างชาติ’ถือครองอสังหา

เป็นเช่นนี้แน่นอนว่า ย่อมกลายเป็นเกมเข้าทาง “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” ที่จ้องเล่นงานรัฐบาลรวมถึงพรรคเพื่อไทยอีกคำรบหนึ่ง 

โดยเฉพาะล่าสุดที่ “สมชาย แสวงการ” สว. ออกมาชี้ช่องบรรดา “นักร้อง” ในการใช้ประเด็นนี้ยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความ การกระทำที่อาจเข้าข่าย “ขัดกันแห่งผลประโยชน์” ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในหลายมาตรา

ทั้งหมดย่อมกลายเป็น “ลูกธนู” ที่ถูกยิงกลับมายังรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯเศรษฐา ที่เวลานี้มีคดีที่40สว.ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติค้างคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งต้องจับตาว่า บรรดา “ผู้มีอำนาจ” จะแก้เกมหลบลูกธนูเหล่านี้เพื่อไม่ให้ลามไปยังองคาพยพในรัฐบาลได้อย่างไร!