‘ฟิวเจอร์สดาวโจนส์’ ดิ่ง 900 จุด แรงฉุด ’แบล็กมันเดย์’ กังวลรีเซสชัน

‘ฟิวเจอร์สดาวโจนส์’ ดิ่ง 900 จุด แรงฉุด ’แบล็กมันเดย์’ กังวลรีเซสชัน

‘ฟิวเจอร์สดาวโจนส์’ ร่วงลง 900 จุด ส่วนฟิวเจอร์ส S&P 500 ลดลง 5% แรงฉุด ’แบล็กมันเดย์’ ทำตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก กังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย และกระแสความร้อนแรง 'หุ้นบิ๊กเทค' เบาลง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่าฟิวเจอร์สหุ้นสหรัฐร่วงหนัก จากความกังวลเรื่องภาวะถดถอยในสหรัฐ และดัชนีนิกเคอิ 225 ของญี่ปุ่นร่วงลง 12% ซึ่งเป็นวันที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ ‘แบล็กมันเดย์’ในปี 1987 เมื่อ 37 ปีที่แล้ว

  • ฟิวเจอร์ส S&P 500 ลดลง 3.3% หลังจากที่ดัชนีอ้างอิงลดลง 1.8% เมื่อวันศุกร์
  • ฟิวเจอร์ส Nasdaq-100 ลดลง 4.8% 
  • ฟิวเจอร์สดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 912 จุด หรือ 2.3%  หลังจากการลดลงถึง 611 จุดเมื่อวันศุกร์

ความกลัวเรื่อง “ภาวะถดถอย”ในสหรัฐเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตลาดหุ้นผันผวนใน "แบล็กมันเดย์" วันนี้(5 ส.ค.67) หลังจากรายงานการจ้างงานเดือนกรกฎาคม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยนักลงทุนยังกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความล่าช้าในการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งเฟดเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งคือ ความร้อนแรงของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐกำลังเบาลง 

  • Nvidia ร่วงลง 9% และลดลงไปแล้วกว่า 23% จากจุดสูงสุด
  • Apple ดิ่งลงกว่า 8% หลังจาก Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลงครึ่งหนึ่ง
  • Tesla ลดลง 7% และ Broadcom และ Super Micro Computer ที่ลดลงมากกว่า 9% 

ตลาดหุ้นเอเชียร่วงตาม นำทีมโดยหุ้นญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อยแล้ว โดยดัชนีนิกเคอิ 225 ปิดลบกว่า 12% ทำสถิติร่วงลงวันเดียวหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ หายวับกว่า 4,400 จุด ขณะที่ 'เงินเยน' แข็งค่าต่อเนื่องแตะ 141 แล้ว

ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ ก็ปรับตัวลดลงเช่นดัน

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนลดลงจาก 4.20% เหลือ 3.76% ภายในหนึ่งสัปดาห์
  • Bitcoin ร่วงลงจากเกือบ 62,000 ดอลลาร์  เหลือประมาณ 52,000 ดอลลาร์
  • ดัชนี Stoxx 600 ของยุโรปลดลง 2.6% 

คำเตือนของ เอ็ด ไฮแมน ประธานของ Evercore ISI เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนทั่วโลก

ไฮแมน กล่าวถึง เช่น รายงานการจ้างงานที่อ่อนแอ การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น (โดยเฉพาะ NASDAQ ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงบริษัทเทคโนโลยี) ผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์