3 มาตรการกำกับซื้อขาย หวังดับหุ้นร้อน - ลดราคาผันผวน

3 มาตรการกำกับซื้อขาย  หวังดับหุ้นร้อน - ลดราคาผันผวน

นับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันมีการพูดถึง “ความเชื่อมั่น” ใน “ตลาดหุ้นไทย” มาโดยตลอด จากเหตุการณ์การกระทำความผิดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทั้งเคสระดับหมื่นล้านบาท จนถึงระดับร้อยล้านบาทต่างมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งที่มีหน่วยงานดูแลการซื้อขายและกำกับตลาดหลักทรัพย์แต่ดูไม่มีผลต่อความยำเกรงในการกระทำความผิด และยังส่งผลต่อเนื่องมายัง “บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยที่เหี่ยวเฉาลง” บวกกับแรงขายของต่างชาติด้วยการใช้เครื่องมือ short selling และระบบการซื้อขายที่รวดเร็วของกลุ่ม HFT 

หน่วยงาน สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เห็นชอบปรับและเพิ่มมาตรการดูแลการซื้อขายรอบด้าน ซึ่งมาตรการแรกที่ดำเนินการไปแล้ว 1 ก.ค. 2567 “Uptick Rule” หรือการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์ได้ที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการ short selling ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปริมาณขายชอร์ตที่ 14-12 % ปริมาณการซื้อขายปัจจุบันเหลือ  3.21 % (23 ส.ค.67)   

“มาตรการเฟส 2”  เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นจะเริ่มดำเนินการเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง  ซึ่งวันที่ 2 ก.ย. 2567 ดำเนินการอีก 3 มาตรการสำคัญ ที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อมกับการซื้อขายหุ้นที่มีผลต่อราคา  

1.การกำหนดกรอบราคาซื้อขายหลักทรัพย์ (Dynamic Price Band)  เพื่อควบคุมและลดความผันผวนของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ในระหว่างวัน (กำหนดกรอบ DPB ไว้ที่ +10% จากราคาซื้อขายล่าสุด) ซึ่งจะไม่นับช่วงราคา Pre-open และ Pre-close เพื่อให้การซื้อขายระหว่างวันไม่ผันผวนและมีราคาขึ้นลงรุนแรงเกินไป เนื่องจากเมื่อราคาซื้อขายเกินกรอบ  DPB (Aggressive Order) ระบบซื้อขายจะหยุดจับคู่หลักทรัพย์นั้น และเข้าสู่ Pre-open 2 นาทีให้นักลงทุนได้ “ฉุดคิด” ก่อนจะซื้อขายต่อ 

เงื่อนไขสำคัญใช้กับหลักทรัพย์ที่ราคาเกิน 1 บาท คลอบคลุมหุ้นสามัญหน่วยทรัสต์ เช่น REIT หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น Property Fund  หากเป็นหลักทรัพย์ที่มีเงื่อนไข ไอพีโอ วันแรก -Tender Offer  -DW -Odd-lot  และหลักทรัพย์ Foreign จะได้รับการยกเว้น

3 มาตรการกำกับซื้อขาย  หวังดับหุ้นร้อน - ลดราคาผันผวน

 2.การซื้อขายด้วยวิธีจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว (Auction) เป็นการยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายที่มีอยู่แล้วแต่มักจะไม่ได้ผลเพราะหลังจากเข้า T1  หรือ  T2 ราคาหุ้นยังปรับขึ้นลงผันผวนจนกลายเป็นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงมีการกำหนดหากเข้ามาตรการ T2  คือใช้บัญชีเงินสด 100 %  ห้าม Net settlement  และเพิ่ม Auction  ซึ่งจะเปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ ได้แก่ Pre-Open 1, Pre-Open 2 และ Pre-Close   โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ 

3 มาตรการกำกับซื้อขาย  หวังดับหุ้นร้อน - ลดราคาผันผวน

ส่วนช่วง No-Matching 1 และ No-Matching 2 ไม่เปิดให้ส่ง order แต่สามารถ Change Volume และ Cancel Order ได้  ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนกว่าหลักทรัพย์นั้นพ้นมาตรการกำกับการซื้อขาย  

3 .การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำส่งคำสั่งซื้อขายต้องคงอยู่ในระบบ (Minimum Resting Time)  กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 250 มิลลิวินาที หรือ 0.250 วินาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเสนอซื้อขายในลักษณะใส่-ถอนที่มีความถี่จนอาจทำให้หรือทำให้ผู้ลงทนทั่วไปเข้าใจผิดว่ามีความต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในปริมาณมาก

ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนที่ให้รูปแบบการซื้อขายด้วย Robot Trade เพราะสามารถส่งคำสั่งได้ครั้งละจำนวนมากและหลายร้อยออร์เดอร์ ที่สำคัญยังสามารถสร้างและยกเลิกออร์เดอร์ได้ภายในวินาที ส่งผลทำให้ผู้ลงทุนที่ใช้ระบบซื้อขายรูปแบบธรรมดาไม่สามารถเอาชนะหรือตามทันได้ 

ดังนั้นหากออร์เดอร์มีสถานะคงค้างน้อยกว่า 0.250 วินาทีระบบการซื้อขายจะยกเลิกออร์เดอร์นั้นทันที  ซึ่ง Minimum Resting Time จะไม่ใช้กับ Market Maker ที่ขึ้นทะเบียนกับ SET / TFEX และปฏิบัติหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง 

ทั้งนี้มาตรการที่เตรียมจะนำมาใช้คาดหวังจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ลดความผันผวนของราคาที่มีความหวือหวาและไม่มีปัจจัยรองรับ ซึ่งได้ผลจะทำให้ หุ้นร้อน หุ้นซิ่ง บรรดา หุ้นเก็งกำไร แทบจะลดลงทันที