โบรกเกอร์คาด OR บันทึกขาดทุน 500 ล้าน ใน Q3/67 กรณีปิด Texas Chicken

โบรกเกอร์คาด OR บันทึกขาดทุน 500 ล้าน ใน Q3/67 กรณีปิด Texas Chicken

4 โบรกเกอร์ชี้งบ Q3/67 ของ OR จะรับรู้รายการปิดสาขา Texas Chicken แบบบันทึกครั้งเดียว "บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส" คาดมีผลขาดทุน 400-500 ล้าน "บล.บัวหลวง-บล.ดาโอ-บล.ทิสโก้" ประเมิน 500-700 ล้านบาท กระทบกำไรรวมทั้งปี 5% แต่จะส่งผลเชิงบวกในระยะยาว

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ประกาศยุติทำแบรนด์ร้านอาหารเท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken) โดยคาดว่า จะทยอยปิดทุกสาขาภายในเดือนก.ย.2567 ทว่ายังคงมุ่งมั่นแสวงหาโอกาส และพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มต่อไป 

ทั้งนี้สำหรับในประเทศไทย Texas Chicken เปิดให้บริการในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2558 ที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต OR เข้าทำสัญญาได้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และ ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 มีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 97 สาขา โดยเจ้าตลาดหลักของธุรกิจแบรนด์ร้านอาหารไก่ทอดในประเทศไทยยังคงเป็นเคเอฟซี (KFC)

การปิดแบรนด์ร้านอาหารย่อมส่งผลกระทบต่องบการเงินของ OR อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ล้วนประเมินงบไตรมาส 3/2567 จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ 400-700 ล้านบาท  เป็นการรับรู้ครั้งเดียว

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) คาดว่า การปิดสาขา Texas Chicken หลังเปิดดำเนินงานราว 9 ปี เนื่องจากผลดำเนินงานขาดทุน และมีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10% จะทำให้มีการบันทึกผลขาดทุนจากการปิดสาขาครั้งนี้ราว 400-500 ล้านบาทในไตรมาส 3/2567

บล.บัวหลวง ระบุสอดคล้องกันว่า การยุติการดำเนินธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่าย One-time ประมาณ 500-700 ล้านบาทในงบการเงินงวดไตรมาส 3/2567

การบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษดังกล่าว อาจกดดันผลประกอบการไตรมาส 3/2567 แต่จะส่งผลเชิงบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว 

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทโดยน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของกลุ่ม Lifestyle ได้ แต่เชื่อว่าบริษัทอาจจะเห็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเกี่ยวข้องกับการปิด Texas Chicken  ในช่วงประมาณ 500-700 ล้านบาทในไตรมาส 3/2567 ซึ่งอาจจะสร้าง Downside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 โดยคาดทั้งปีอยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านบาท (เทียบกับ 1.11 หมื่นล้านบาทในปี 2566)

และ บล.ทิสโก้ วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจนี้น่าจะเป็นผลมาจากการหมดอายุของสัญญาแฟรนไชส์ คาดผลกระทบของค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่จะถูกบันทึกจะอยู่ที่ประมาณ 500-700 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งจะคิดเป็น 5% ของประมาณการกำไรปี 2567 ของฝ่ายวิเคราะห์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์