IRPC อ่วม Q3/67 ขาดทุน 4,880 ล้าน รับรู้ขาดทุนสต๊อก - สินค้าคงคลังรวม 5,000 ล้าน
IRPC รายงานกำไร Q3/67 ขาดทุนหนัก 4,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 4,148 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจาก ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท และมีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลืออีก 1,634 ล้านบาท รวม 5,000 ล้านบาท
บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2567 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2567 มีรายได้จากการขายสุทธิ 69,964 ล้านบาท ลดลง 4,102 ล้านบาท หรือ 6 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 10 % ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 4 % สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market GrossRefining Margin: Market GRM) เพิ่มขึ้น
โดยหลักมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานเทียบกับราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะส่วนต่างราคายางมะตอย ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันเตาที่ลดลง ประกอบกับความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นจากการเร่งใช้งบประมาณประจำปี
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market Product to Feed: Market PTF) เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสไตรีนิกส์กับวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนประกอบกับกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นคงที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,650 ล้านบาท หรือ 5.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5 % จากไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ตาม จากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว มีผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เป็นผลให้เกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท หรือ 5.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ (NRV) 1,634 ล้านบาท หรือ 2.56เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
จากรายการดังกล่าวทำให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net InventoryLoss) รวม 5,000 ล้านบาท หรือ 7.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี(Accounting GIM) จำนวน 1,350 ล้านบาท หรือ 2.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ที่มี Accounting GIM 4,869 ล้านบาทหรือ 7.19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 4,843 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่บันทึก EBITDA จำนวน 1,439 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/2567 สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกกำไรจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 763 ล้านบาท และบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้ยืมจำนวน 182 ล้านบาท
ประกอบกับบริษัทฯ มีกำไรยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน 575 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคา 2,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 % จากไตรมาสก่อน ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12 % จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ในไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ บันทึกผลขาดทุนสุทธิ 4,880 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 4,148 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567