เปิดภารกิจท้าทายดีลอยท์ 'เมธินี' แม่ทัพคนใหม่ สู่บริบทใหม่ ผสานมาตราฐานโลก

เปิดภารกิจท้าทายดีลอยท์ 'เมธินี' แม่ทัพคนใหม่ สู่บริบทใหม่ ผสานมาตราฐานโลก

เมื่อทิศทาง “เศรษฐกิจ-เทคโนโลยี-วัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่" นับเป็นความ “ท้าทายใหม่” และเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่หลากหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยไม่ได้ !!

และหนึ่งในองค์กรที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วอย่าง “ดีลอยท์ ประเทศไทย” ที่อยู่ภายใต้ “ดีลอยท์” (Deloitte) เป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดีลอยท์ ประเทศไทย ถือเป็นบริษัทที่ปรึกษาครบวงจรชั้นนำของประเทศ และกำลังเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” ภายใต้การบริหารของ “สุภศักดิ์ กฤษณามระ” ด้วยระยะเวลายาวนานถึง 22 ปี

แต่ล่าสุดองค์กรดังกล่าวกำลังถูกส่งไม้ต่อให้แม่ทัพหญิงคนใหม่ “เมธินี จงสฤษดิ์หวัง” ที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ คนใหม่ มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา  

เปิดภารกิจท้าทายดีลอยท์ \'เมธินี\' แม่ทัพคนใหม่ สู่บริบทใหม่ ผสานมาตราฐานโลก

 

“เมธินี จงสฤษดิ์หวัง” กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดวิชั่นภายใต้บทบาทใหม่ล่าสุดให้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า มีเป้าหมายนำพาองค์กรมุ่งสู่บริบทใหม่ระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ภายใต้ “ดีลอยท์” ส่งผลให้เรามีศักยภาพสามารถที่จะ “make an impact that matters” ในการสร้างผลกระทบที่สำคัญ และมีความหมายให้ “ลูกค้า พนักงาน ชุมชน” อีกทั้งบทบทความรับผิดชอบใหม่ และทีมงานแข็งแกร่ง ดังนั้น เชื่อว่าดีลอยท์ ประเทศไทยจะสามาถใช้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์จากต่างประเทศ ร่วมกับความเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ของเมืองไทย

ด้วย “จุดแข็งแกร่ง” บริษัทที่ปรึกษาครบวงจร ด้วย “4 ธุรกิจหลัก” ให้บริการลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 1. Audit and Assurance (บัญชี การเงิน และตรวจสอบบัญชี) 2. Tax and Legal (ภาษี กฎหมาย) 3. Strategy, Risk, Transaction (การควบรวมกิจการ กลยุทธ์องค์กร โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงองค์กร) และ 4. Technology and Transformation (การสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจและพัฒนาระบบ รวมถึง Cloud และ AI แบบเฉพาะทางสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม) เพื่อส่งมอบบริการครบวงจร และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งเอกชนและรัฐให้เหมาะสมและทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

และหนึ่งในความท้าทายในไทย และเป็น “แรงกดดัน” ต่อ “ธุรกิจที่ปรึกษาตรวจสอบบัญชี” คงต้องยกให้กรณีปัญหาการ “ฉ้อโกง” ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ผ่านมา ดังนั้น ดีลอยท์ ประเทศไทย จึงมีแนวทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบในภาพรวมทั้งระบบ ซึ่ง “บิ๊กโฟร์” แห่งวงการตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มีความร่วมมือกับ “สภาวิชาชีพบัญชี” และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันที่จะทำให้มาตรฐานการตรวจสอบ และกฎหมายการกำกับดูแลต่างๆ พัฒนาก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกและการกระทำทุจริตของบุคคลด้วย

อย่างไรก็ตาม แน่นอนธุรกิจบริการด้านบัญชีและตรวจสอบบัญชี ภาพนี้ทุกคนรู้จักเราเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และเรายังไม่ทิ้งธุรกิจนี้ เพราะเรามีความต่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ ด้วยบริการอื่นๆ ที่มาเสริมให้กับลูกค้าตอบโจทย์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“เรายังมีการตรวจสอบภายในของเราเอง และมีมาตรฐานระดับโลก ซึ่ง “ดีลอยท์ ประเทศไทย เป็น “Global Standard” อยู่แล้ว ตอกย้ำในเรื่องนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น”

ดังนั้น จากนี้ ดีลอยท์ ประเทศไทย เดินหน้ากลยุทธ์ธุรกิจผ่าน “3 ธีมหลัก” คือ 1.Client at the Center, People First การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก 2.Brave and Bold ความกล้าและชัดเจนการเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด สามารถปรับตัวได้ทันในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย และรักษาความสามารถการแข่งขันในตลาด “อยู่รอดได้” อย่างยั่งยืน และ 3.Innovate Growth การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI และการลงทุนในนวัตกรรม เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย

ทั้งนี้ “ดีลอยท์ ประเทศไทย” ให้บริการลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับกลุ่มลูกค้า Top 3 ของ “ดีลอยท์ ประเทศไทย” และ “ดีลอยท์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉี่ยงใต้” ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินและไฟแนนซ์ , กลุ่มธุรกิจสื่อสารและองค์กรภาครัฐ รวมถึงกลุ่ม 3 P ได้แก่ กลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ของไทย , ปิโตรนาส บริษัทน้ำมันและก๊าซ ของมาเลเซีย และ เปอร์ตามินา บริษัท น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ของรัฐ อินโดนีเซีย เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก

“เมธินี” บอกต่อว่า ในเมืองไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงฝั่ง “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” ระยะข้างหน้าในธุรกิจใหม่อย่าง “เวอร์ชวลแบงก์” ซึ่ง ดีลอยท์ ประเทศไทย มองเห็นโอกาสดังกล่าวจึงไปเตรียมความพร้อมให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญการเป็นที่ปรึกษาสนับสนุนทางด้านเวอร์ชวลแบงก์ตั้งแต่ยื่นใบสมัครจนถึงวางระบบในหลายประเทศ ดังนั้น เห็นการสนับสนุนด้านนี้โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และเหมาะสมตามความเสี่ยงด้านเครดิต ช่วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ขณะที่ “ตลาดทุนไทย” ได้เข้าไปสนับสนุนทุกๆ ด้าน เช่น การให้ความเห็นผ่านกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์กร และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุน ขณะนี้เรายังต้องรอการวางหลักเกณฑ์กำกับดูแลในฝั่งตลาดทุนให้ชัดเจนก่อน

รวมถึงเตรียมพร้อมกับลูกค้ารายใหม่ สามารถออกเสนอขายหุ้น IPO และ บจ. ที่ต้องการปรับโมเดลธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ภายใต้ “3 เทรนด์ในโลก” คือ 1.เริ่มตั้งแต่การทำ Enterprise Resource Planning ซอฟต์แวร์และระบบที่ใช้ในการวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานหลัก การผลิต การบริการ การเงิน และกระบวนการอื่นๆ ขององค์กรให้พร้อม รวมถึง 2.การปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจใหม่ และการเตรียมความพร้อมทรัพย์ยากรบุคคล เพื่อให้องค์กรยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในระยะยาว และ 3.แนวทางในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน (ESG)

ท้ายสุด “เมทินี” ทิ้งท้ายไว้ว่า วางเป้าหมายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าปักธงเดินตามรอย Deloitte Global ภายใต้กลยุทธ์ Store Front Modernization ที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ จะช่วย “ทำให้ทันสมัยและเรียบง่ายขึ้น” รักษาความเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งอยากให้ “ดีลอยท์ ประเทศไทย” และ “ดีลอยท์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” รักษาความเป็นบริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ดีลอยท์ ประเทศไทย “Respect the past, Honor the present ,Lead the future” คือ เราเคารพอดีต ให้เกียรติในปัจจุบัน และ-ขับเคลื่อนอนาคต