THAI เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ เปิดใช้สิทธิได้ 19 – 21 พ.ย.นี้

THAI เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ เปิดใช้สิทธิได้ 19 – 21 พ.ย.นี้

THAI เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ เปิดให้เจ้าหนี้แสดงเจตนาการใช้สิทธิได้ ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2567

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน ของบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 โดยการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบไปด้วย

THAI เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ เปิดใช้สิทธิได้ 19 – 21 พ.ย.นี้

(ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 37,828 ล้านบาท 

(ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) 

(ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 4,845 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนโดยความสมัครใจ  

ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และดำเนินการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ

สำหรับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุน ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 - 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ อ้างอิงรายชื่อ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 จะไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนแบบภาคบังคับตามข้อ (ก) ข้างต้น โดยจะได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) และ/หรือใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนตามข้อ (ข) และ (ค) ข้างต้น เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิดังกล่าว ได้ระหว่าง วันที่ 19 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. (หรือเวลาทำการของแต่ละสาขา) ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งดังนี้

• สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) สำหรับการส่งใบแสดงเจตนาด้วยเอกสารตัวจริง (Hard Copy)
• สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการส่งใบแสดงเจตนาด้วยเอกสารตัวจริง (Hard Copy)
• ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องดำเนินการเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)

เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีสิทธิแปลงหนี้เป็นทุนสามารถดาวน์โหลดเอกสารใบแสดงเจตนาในการใช้สิทธิ และรายละเอียดเอกสารประกอบผ่านทาง https://bit.ly/TGVoluntary

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของหุ้นการบินไทยหลังจากวันที่กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เจ้าหนี้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการทุกราย (ทั้งในส่วน Mandatory Conversion, Voluntary Conversion และดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก) ถูกกำหนดห้ามมิให้ขายหุ้นเพิ่มทุนเป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุน จนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นจำนวนร้อยละ 25 ของหุ้นที่ถูกห้ามขายสามารถขายได้เมื่อครบกำหนด 6 เดือน ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายจะได้รับหุ้นในรูปแบบใบหุ้น (Scrip) เท่านั้น และใบหุ้นดังกล่าวจะถูกเก็บรักษาไว้ที่บริษัทฯ หรือผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ที่บริษัทฯ กำหนดในระหว่างระยะเวลาห้ามขายหุ้น 

อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงดำเนินการในการชำระหนี้สำหรับมูลหนี้คงเหลือ ของเจ้าหนี้แต่ละราย ในกรณีที่ไม่ได้มีการแปลงหนี้เป็นทุนโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) เพิ่มเติม ซึ่งได้กำหนดไว้ตามแผนตั้งแต่ปี 2567 – 2579 พร้อมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานและคุณภาพการบริการเพื่อเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกำหนดกลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบินให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาด มุ่งเน้นการให้บริการคุณภาพสูงด้วยอัตลักษณ์ความเป็นไทย พัฒนาช่องทางการขายเพื่อเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางของบริษัทโดยตรง ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันใหม่ ตลอดจนมีแผนพัฒนาศูนย์บริการลูกค้าต่างประเทศเพื่อขยายการให้บริการผู้โดยสารได้หลากหลายขึ้น สอดรับเป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาดในประเทศและศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

ภายหลังกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าวแล้วเสร็จ การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกส่วนรวมกับหุ้นที่เหลือจากการที่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ใช้สิทธิหรือใช้สิทธิไม่เต็มจำนวนจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนที่มีที่อยู่จัดส่งเอกสารในประเทศไทยตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เท่านั้น พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ในราคาที่ผู้บริหารแผนกำหนด ที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

กระบวนการปรับโครงสร้างทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งยังส่งผลให้การบินไทยมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังจากนั้นจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นเงื่อนไขตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ก่อนยื่นคำร้องยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 อีกครั้ง

โดยการบินไทยเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 และมีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก โดยพิจารณาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ (คิดเป็นล้านคน-กิโลเมตร) ของปี 2566

ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบินรวม 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบิน ใน 27 ประเทศทั่วโลก เชื่อมต่อประเทศไทยกับภูมิภาคสำคัญ ๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และภายในประเทศ

การบินไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง 1 ใน 5 รายของกลุ่มพันธมิตรการบินสตาร์ อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรการบินชั้นนำระหว่างประเทศ เพื่อการขยายเครือข่ายเส้นทางบินผ่านความตกลงเที่ยวบินร่วม (code sharing) การสะสมไมล์เดินทางร่วม และการให้บริการพิเศษเพิ่มขึ้นแก่ลูกค้าทั่วโลก