WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

“การศึกษา” สามารถเปลี่ยนประเทศได้ แต่ทำไม “การศึกษาไทย” ถึงยังไม่ทั่วถึง และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน

KEY

POINTS

  • ศธ.ให้ความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งแก่โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนทุกขนาด ทำอย่างไรให้ลูกๆ นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
  • “ภาคีเครือข่าย WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการธุรกิจกว่า 40 ธุรกิจ ที่ร่วมกันขับเคลื่อน 5 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาปัจจัยสี่และสร้างครูดีให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก
  • เดินหน้าขยายผลเข้าสู่ปีที่ 4 ทั้ง 5 โครงการสานต่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก  พัฒนาครู เด็ก ลดความเหลื่อมล้ำในวงการศึกษาของไทย

การศึกษา” สามารถเปลี่ยนประเทศได้ แต่ทำไม “การศึกษาไทย” ถึงยังไม่ทั่วถึง และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน ยิ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้

โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม “ภาคีเครือข่าย WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการธุรกิจกว่า 40 ธุรกิจ ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นหลักการสำคัญในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสทางศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ให้รู้จักพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเอง

ข้อมูลจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาวิเคราะห์ ออกมาระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานช่วงต้น โดยปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยมีประมาณ 15,000 โรงจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ทั่วประเทศ  29,000 กว่า โรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'Fin Lab' ติดปีกความรู้ด้านการเงินและการลงทุนในเด็กและเยาวชน

พาส่อง AI เทรนด์ในปี 2025 โอกาสและความท้าทาย

ศธ.สร้างความเข้มแข็งให้รร.ขนาดเล็ก

นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “เก็บเล็กผสานน้อย” ในงานหยั่งรากสู่ยั่งยืน งานส่งเสริมและสนับสนุนประชาคมสู่ความยั่งยืนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่าต้องขอขอบคุณมูลนิธิดั่งพ่อสอน และผู้ประกอบการทุกท่านที่ได้ร่วมกันสร้างโครงการเพื่อสังคม ที่ดูแลโรงเรียนขนาดเล็กพิเศษ ภายใต้การสนับสนุนปัจจัย 4+1ทั้งเรื่องของอาหาร(โครงการก่อร่างสร้างครัว) ,เครื่องนุ่งห่ม(โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว),ที่อยู่อาศัย(โครงการปลูกโรงเรียน ตามใจผู้อยู่),ยารักษาโรค ‘โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล’ และครู (โครงการอยู่ดีมีครู’) และดีใจที่ได้เป็นส่วนของงานเก็บเล็กผสานน้อย

นายภูธร กล่าวต่อว่าปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ตนเองได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสพฐ.ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการกพฐ. ได้มอบหมายให้ตนมาเป็นส่วนหนึ่งในการรับฟังและเห็นการดำเนินงานกิจกรรมดีๆ อย่าง 5โครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ อยากจะทำความเข้าใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มีนโยบายในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เป็นนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก ได้การแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กของหมู่บ้าน หรือชุมชน มีวัฒนธรรมที่เข็มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่แสดงถึงรากเหง้าของหมู่บ้าน ชุมชน  การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจึงไม่ใช่นโยบายของศธ.

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

สนับสนุนรร.พื้นที่สูง-พื้นที่เกาะ

“ศธ.ให้ความสำคัญเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งแก่โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนทุกขนาด ทำอย่างไรให้ลูกๆ นักเรียนที่อยู่โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ด้วยเป้าหมายดังกล่าว ศธ.จึงมีนโยบายปฎิวัติการศึกษา   ทำให้เด็กฉลาดรู้ ทำอย่างไรให้โรงเรียนทุกอยู่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ฉะนั้น 5 โครงการที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ร่วมกันดำเนินการนี้ จะเป็นการสร้างความฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ เมื่อผู้ปกครองเชื่อมั่นในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กขยายเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ก็เป็นได้” นายภูธร กล่าว

นอกจากนั้น เรื่องการเติมครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สพฐ.พยายามดูแลครูให้ครบทุกโรงเรียน แต่ยอมรับว่าการจะทำให้ความเสมอภาคเกิดขึ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำได้ทันทีคงไม่ใช่เรื่องง่าย

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

นายภูธร กล่าวต่อว่าขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งอยู่บนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ,พื้นที่เกาะ ,พื้นที่ห่างไกล ซึ่งอยากให้ทางภาคเอกชน SMEs เข้าไปช่วยในส่วนนี้ ทำอย่างไรให้เด็กๆ เรียนดี มีความสุข ตามนโยบายของศธ. เพราะไม่ว่าโรงเรียนจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ถ้าเด็กนักเรียนมีความสุขจะอยากอยู่ที่นั้น หลายโครงการมีความอบอุ่น  

อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทางมูลนิธิดั่งพ่อสอน ผู้อำนวยการ ประธานโครงการ ผู้ประกอบการ SMEs และผู้อำนวยการ ครูและนักเรียน  เป็นโอกาสให้ครูและนักเรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับไปสานต่อ และช่วยทางกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดโครงการดีๆ ดังนี้ตลอดไป

“แววตาของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ พวกเขามีความสุขและดูมีความหวัง ดังนั้น อย่าบอกว่าเรียนอยู่โรงเรียนขนาดเล็กแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่โตมาจากโรงเรียนขนาดเล็ก ทุกคนหากมีจุดหมายจะทำให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและเด็กได้ อยากให้กำลังใจและขอให้สร้างโครงการดีๆ ให้มากขึ้น สพฐ.และศธ.พร้อมที่จะจับมือและสานต่อโครงการต่างๆ ไปด้วยกัน”นายภูธร กล่าว

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

SMEs ยกระดับรร.ขนาดเล็ก

น.ส.อรนาฎ พัฒนะกุลพงศ์ รองประธานเก็บเล็กผสานน้อย และตัวแทนจากโครงการตัดเสื้อน้อง กล่าวว่า 5 โครงการที่ทางภาคีเครือข่ายเก็บเล็กผสานน้อย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเปิดโครงการกว่า 3 ปี เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชน โรงเรียนขนาดเล็กได้พัฒนาและพึ่งพอตนเองได้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการSMEs  ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการ WECSR 5 โครงการย่อย ที่เชื่อมโยงกัน ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่

1.โครงการก่อร่างสร้างครัว แก้ปัญหาอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียน โดยได้ใช้โมเดลแก้ปัญหาที่ชื่อว่า “ปลูก ปรุง แปร แล้วเปลี่ยน..เป็นความยั่งยืน” ภายใต้ความร่วมมือกับเด็กนักเรียน คุณครู คนในชุมชน นักธุรกิจ และภาคส่วนอื่นๆ ให้การสนับสนุน ดูแลแปลงปลูกร่วมกัน ซึ่งปีนี้ก่อร่างสร้างครัว รวมลงมือทำแปลงปลูกผักกับชาวบ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีแปลงผักสำหรับปลูกผัก เพื่อนำมาปรุงอาหาร สำหรับมื้อกลางวันและให้เด็กๆ ได้ดูแลรักษาแปลงผัก ปลูกฝังให้เด็กๆ มีทักษะในการปลูกผักด้วย

2.โครงการตัดเสื้อน้องแต่พอตัว มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของชุดนักนักเรียนโดย ในปี 2567 ได้มีการจัดกิจกรรมสอน Life Skill ให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนเครือข่าย เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ (หัวการค้า) ให้แก่เด็กนักเรียน สอดคล้องกับกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน ที่จะสอนให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน รู้จักการประกอบกิจการ การหารายได้ ที่จะทำให้เป็นทักษะที่ติดตัวเด็ก ๆโดยทางทีมงานได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนต้นแบบคือ โรงเรียนวัดเจริญสุขาราม วัฒนานุวรรตน์ จ.สมุทรสงคราม

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

แก้ปัญหาปัจจัย 4 ปั้นครูดี

3.โครงการปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่  มุ่งแก้ปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการศึกษา และพัฒนาการของเด็กทางโครงการจะเข้าไปเสริมความรู้ด้านความปลอดภัย ซ่อมโรงเรียนให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมเรียนรู้ และสร้างผลงานปีที่ผ่านมามีการต่อยอดกิจกรรม รางวัลศูนย์การเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิกำธร-มาลี พูนศักดิ์อุดมสิน

ทางคณะทำงานผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและโรงเรียน สนับสนุนให้เกิดรายได้จากศูนย์การเรียนรู้ และมีการเซ็น MOU ระหว่าง OKMD (TK Park) และมูลนิธิดั่งพ่อสอน (เก็บเล็กผสานน้อย) เพื่อเพิ่มปริมาณหนังสือหมุนเวียนให้กับห้องสมุดของโรงเรียนขนาดเล็กในเครือข่าย

4.โครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล ได้สืบสานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการปลูกฝังความรู้ที่แท้จริงให้หยั่งลึกในตัวเด็ก เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมให้กับตนเองและผู้อื่น และสร้างสรรค์โมเดลจากโครงการหมอหมู่บ้านในราชประสงค์ โดยมีความมุ่งหวังที่จะปลูกฝังจิตสาธารณะเรื่องการมีส่วนร่วมให้กับเด็ก โดยให้เด็กนำความสามารถที่มีมารณรงค์ช่วยแก้ไขปัญหาสาธารณสุขท้องถิ่น  อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแสดงความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเองและเป็นต้นแบบให้กับเด็กทั่ว ๆ ไป ในการทำความดีให้กับสังคม

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

5. โครงการอยู่ดีมีครู ได้นำ โมเดล “ศิลป์ สาน สร้าง” ซึ่งสืบสานแนวทางมาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยนำภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมของท้องถิ่น มาร่วมกับดิไซเนอร์สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นมาเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยทางทีมงานดำเนินโครงการร่วมกับ โรงเรียนบ้านมาบเหียง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นรายได้ชุมชน เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาจัดจ้างครูในระดับอนุบาล

ภาครัฐผลักดันขยายต่อสู่โรงเรียนอื่นๆ

“ปัญหาการศึกษาของเยาวชนไทยนั้น ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีนโยบายแก้ปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 5 โครงการขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันและแก้ปัญหาในสิ่งที่ทำได้ แต่ทั้งนี้ ทั้ง 5 โครงการต้องใช้เวลาในการดำเนินการทีละขั้นตอน เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดี ให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงเติบโตอย่างยั่งยืน” น.ส.อรนาฎ กล่าว

น.ส.อรนาฎ กล่าวด้วยว่าการดำเนินการตลอดหลายปี ผู้ประกอบการSMEs ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ครู นักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน และชุมชน ทุกภาคส่วนต่างอยากมีส่วนร่วม แต่ด้วยข้อจำกัดของความเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อาจจะขาดครู ขาดงบประมาณ ดังนั้น อยากให้ภาครัฐ ศธ. สพฐ.เข้ามาช่วยสนับสนุนประชาสัมพันธ์ หรือผลักดันให้โมเดลต่างๆ ขนาดวงกว้างมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสและสร้างคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเรียนรู้ มีทักษะและขับเคลื่อนประเทศ

พลังจิตอาสา แก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก

เช่นเดียวกับ “น.ส.จามรี กุลชนานนท์ ตัวแทนโครงการคบเด็กสร้างโรงพยาบาล กล่าวว่าเป้าหมายของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนท้องถิ่น และปลุกจิตสาธารณะเรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน  ซึ่งโมเดลที่ใช้จะเรียกว่า  Hero โดยจะมีการส่งต่อความรู้สาธารณสุข เบื้องต้นให้แก่เด็กและเยาวชน และรณรงค์ให้ตะหนักถึงความขาดแคลนสาธารณสุขท้องถิ่น และกิจกรรมให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการสานปลาตะเพียน ซึ่งมีเด็กกลุ่มหนึ่งหรือที่เรียกว่า ยุวทูตจิตอาสา หรือ  little Hero ที่เขาอยากจะทำอยากจะช่วยโดยใช้ความสามารถของตนเอง ทั้ง การแสดง การเล่นดนตรี การร้องเพลงเปิดหมวก เพื่อร่วมกันระดมทุนไปซื้อ “เครื่องกระตุกหัวใจ” (AED)” และมอบให้กับห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินในโรงพยาบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ

“จากการดำเนินโครงการจะเห็นได้ว่าเด็กบางคนเขามีปัญหาเรื่องของการใช้กล้ามเนื้อมือ เนื่องจากเกิดจากการใช้มือถือ หรือแท็ปเล็ตมากเกินไป จนทำให้เวลาสานปลาตะเพียนทำให้เขาไม่สามารถทำได้  หรือเมื่อจัดการแข่งขันโดยมีโจทย์ให้ หลายคนจะพยายามแก้และทำโจทย์จนสำเร็จ แต่มีบางคนไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้ เมื่อเจอโจทย์อยากขึ้นเขาจะไม่ทำและไม่สนใจอีก เรื่องเหล่านี้ หากไม่มีการนำกิจกรรมเข้าไปในโรงเรียนจะไม่ได้เห็นถึงปัญหา และการที่เห็นปัญหาจะสามารถช่วยแก้ปัญหาพัฒนาเด็กได้” น.ส.จามรี กล่าว

โครงการทั้ง 5 ของ “ภาคีเครือข่าย WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย” จุดเริ่มต้นของการรวมตัวของภาคธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ประกอบการSMEs รุ่นใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาระบบการศึกษา ด้วยการผสานพลังความร่วมมือทั้งเด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็ก 5 โรงเรียนนำร่อง ก่อนขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก

WECSR เก็บเล็ก ผสานน้อย  เติมปัจจัยสี่-ครู พัฒนารร.ขนาดเล็ก