“การเชื่อมโยงเครือข่าย” น่าจะเป็นกุญแจใช้แก้ปัญหาของ SME ได้ในหลายแง่มุม

“การเชื่อมโยงเครือข่าย”  น่าจะเป็นกุญแจใช้แก้ปัญหาของ  SME  ได้ในหลายแง่มุม

บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท. ในปี 2561 และ SCB – EIC ในปี 2567 ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของ SME อย่างชัดเจน เนื่องจากในปี 2566 SME มีจำนวนถึง 3.2 ล้านแห่ง ทั่วประเทศ ( = 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด ) โดยมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 71% และก่อ ผลผลิตได้ 38.5% ของ GDP

  ทั้งนี้  SME  ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจร้านขายของชำ (13%),     ภัตตาคาร / ร้านอาหาร (10%),  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (4%),  และ อู่ซ่อมรถ (4%)

ปัญหาสำคัญที่  SME  ต้องเผชิญ

            ขนาด และ / หรือ เครือข่ายสาขาที่ค่อนข้างเล็กของ  SME  มักจะเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหลายประการ  ดังเช่นต่อไปนี้   

(1)  ขาดแคลนเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากตลาดในระบบ           

 (2) กระบวนการผลิตล้าสมัย  ขาดการประยุกต์ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 

(3)  ขนาดของธุรกิจที่เล็ก  พร้อมทั้งการขาดแคลนแรงงาน  เป็นปัจจัยที่จำกัดประเภทและปริมาณการผลิต  ทำให้รายได้มีความผันผวนสูง (volatile)

 (4)  มักจะขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ทันต่อเวลา  และขาดการกระจายผลผลิต (diversification)  จึงเพิ่มความเปราะบาง (vulnerability) ต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมือง

  (5)  ผลผลิตขาดจุดเด่นหรือเอกลักษณ์  จึงประสบความลำบากในการแข่งขัน 

(6)  กลยุทธ์ทางการตลาดไม่ดีพอที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดใจลูกค้าได้มาก

  (7)  ปัญหาพิเศษสำหรับ  SME ในเมืองรอง คือ ตลาดมีขนาดเล็ก  แรงงานขาดแคลน  และโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย (เช่น ถนนชำรุดหรือคับแคบ  ค่าขนส่งสินค้าแพง  และระบบ  internet  เข้าไม่ถึง)

 (8)  แม้รัฐจะมีองค์กรช่วยเหลืออยู่หลายแห่ง  แต่ขบวนการและขั้นตอนก็ยังยุ่งยากและซับซ้อน

“การเชื่อมโยงเครือข่าย”  ช่วยได้อย่างไร

            การเชื่อมโยงเครือข่าย (interlink) ของ SME  ที่จะกล่าวถึงในที่นี้มีจุดประสงค์ที่จะแก้ไขต้นตอของปัญหา  SME  นั่นคือ  ขนาดของเครือข่าย  SME  ควรใหญ่ขึ้น ครอบคลุมประเภทสินค้า  บริการ  และพื้นที่ได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถต่อสู้กับแรงแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้นในหลายแง่มุม เช่น

 (1)  สามารถให้บริการลูกค้าได้กว้างไกลและทันต่อเวลา

 (2)  ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า และกระจายประเภทของผลผลิตเพื่อให้จูงใจลูกค้าได้มากขึ้น

 (3)  ใช้กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมเพื่อกระจายข้อมูลแก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง             

  (4)  คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทั้งจำนวนลูกค้าและผลกำไรสุทธิ

 หลายฝ่ายอาจมีความเห็นตรงกันว่า  เป้าหมายทั้ง  4  ประการนี้คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับ  SME  ของไทย  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราปรับแนวคิดของการเชื่อมโยงเครือข่ายกิจการให้มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพมากขึ้น เราอาจจะใช้แนวคิดนี้มาช่วยแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ของ  SME  ไทยได้สำเร็จ

หากเรามองบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบการในไทยเป็นตัวอย่างเช่น กลุ่ม  CP  จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อบริษัทมีหน่วยงานในเครือดำเนินกิจการที่ครบวงจร

ตั้งแต่         การสร้างผลผลิตหลายประเภทที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า  การเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาที่ถูกต้องและไว้ใจได้  การจัดตั้งสาขาอย่างแพร่หลายเพื่อสนับสนุนงานขายปลีกและขายส่ง  การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว  การให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ  และสามารถปรับตัวได้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์

บริษัทจึงประสบความสำเร็จด้วยดีในการดำเนินธุรกิจ  แต่ก็ต้องมีผู้นำที่มีทัศนคติที่รอบคอบ  และมีวินัยทางเงินพร้อมทั้งบรรษัทภิบาลที่ดี  เพราะผู้นำต้องดูแล  รับผิดชอบ  และประสานงานของหลายองค์ประกอบหรือบริษัทในเครือ  ซึ่งครอบคลุมสินค้า / บริการ เป็นจำนวนมากในหลายเขต 

ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นนี้จึงควรเป็นแม่แบบของการเชื่อมโยงเครือข่าย SME ในไทยเข้าด้วยกันตามความสมัครใจ  กล่าวคือ  กลุ่มใหญ่ของ  SME (Aggregate SME, ASME)  ควรถูกจัดตั้งขึ้นโดยประกอบด้วยบริษัทหรือเครือข่ายสมาชิกหลายประเภท / อาชีพ (multifaceted)  เช่น  เกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  บริการ          ขายอาหาร / ของชำ  อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ  ในหลายพื้นที่ 

หน้าที่ของ  ASME  คือแบ่งกระจายงาน / ประสานงาน ให้แก่บริษัทสมาชิกหลายประเภทในหลายเขตเหล่านั้น (เช่น  ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า  อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย  ยานยนต์  ขายของชำ)  โดยมีเป้าหมายที่จะกระจายสินค้า / บริการ ไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ 

ทั้งนี้บริษัท / เครือสมาชิกเหล่านี้จะเข้ามาทำข้อตกลงกันว่าจะมีส่วนเข้าร่วมลงทุนใน  ASME อย่างไร  และได้รับผลตอบแทนจาก ASME ตามสัดส่วนที่สมาชิกเหล่านั้นหารายได้ให้แก่ ASME  (หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ASME แล้ว) 

ในเมื่อปัญหาส่วนใหญ่ของ  SME  สืบเนื่องมาจากความไม่เพียงพอของเงินทุนและขนาดของกิจการค่อนข้างเล็ก  การรวมตัวของ  SME  ไปเป็น  ASME  ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้อย่างแท้จริง 

แต่  ASME  ก็จะต้องคัดเลือกเอาบริษัทสมาชิกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และประสบการณ์ค่อนข้างมาก  พร้อมทั้งรอบคอบและทันสมัยอยู่เสมอ  มาเป็นบริษัทผู้นำ  เพราะบริษัทผู้นำ  ASME  นี้ ต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับดีในตลาดเงินทุน  รอบคอบและวางแผนให้แก่การปฏิบัติงานของบริษัทสมาชิกในกลุ่ม  ASME  ได้อย่างเป็นระบบที่ครบถ้วนตาม supply chain  และความต้องการของตลาดทั้งภายในและนอกประเทศ

  นอกจากนั้น  บริษัทผู้นำ  ASME  จะต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี และยังต้องสามารถวางกลยุทธ์การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพภายในกลุ่มบริษัทสมาชิก  ASME  อีกด้วย  เพราะการซื้อขายสินค้าและบริการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายในกลุ่ม  SME  ด้วยกันเอง  และกับลูกค้านอกกลุ่ม 

ทั้งนี้การซื้อขายสินค้า  บริการ  หรือผลผลิตจากบริษัทสมาชิก  ASME  ก็ควรมีวิวัฒนาการผ่าน  platform  E-commerce  ที่ทันสมัยหลายช่องทาง  เพราะการเข้าร่วมในวงการเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคนี้ (เช่น  ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่าน Lazada, Shopee, TikTok)  ย่อมช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้แก่  ASME  ได้อย่างแน่นอน

ข้อสรุป

            การเชื่อมโยงเครือข่าย SME แบบ ASME  (ซึ่งมีความยืดหยุ่น  เช่น หลายอาชีพ  หลายฐานะการเงิน  หลายเขต  ฯลฯ)  จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพให้แก่  SME  ได้ในหลายแง่มุม  พร้อมทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจร ให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น (consolidated)  ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้  SME  เพิ่มขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน 

ข้อเสนอเช่นนี้ได้รับการยืนยันจาก  Christine  Lagarde  ประธานของธนาคารกลางยุโรป (European  Central  Bank)  ว่าปัญหาธุรกิจในประเทศยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันนีควรแก้ไขด้วยการควบรวมหรือเชื่อมโยงในทำนองเดียวกันนี้

            ผลพลอยได้อีก  3  ประการของการควบรวมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายของ  SME  คือ 

(1)  จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้สู่ประชากรทั่วไป 

(2)  ช่วยเพิ่มระดับรายได้ต่อหัว (ที่ไทยต่ำกว่าสิงคโปร์และ มาเลเซียอยู่เป็นอันมากเสมอมา)  หรือลดความยากจนที่แพร่หลายอยู่มาก  จึงจะช่วยแก้ไขความยืดเยื้อของปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบัน

(3)  การแก้ไขปัญหาของ  SME  โดยการควบรวมหรือเชื่อมโยงดังที่เสนอข้างต้นนี้ จะส่งผลดีอย่างถาวรให้แก่  SME  ต่างจากมาตรการ  stopgap  measures  ที่หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐกำลังพยายามนำมาช่วยเหลือ  SME  เช่น  ลด และ / หรือ  เลื่อนกำหนดชำระภาระหนี้ของ  SME  เพราะมาตรการเหล่านั้นจะส่งผลดีได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น.