หวั่นไร้ ‘แจนยัวรี่เอฟเฟค’ หนุน โบรกชี้ ‘หุ้นไทย’ เสี่ยงสูง ‘ศก.โลก-ไทย’ ขาย ‘LTF’
หวั่นไร้ ‘แจนยัวรี่เอฟเฟค’ หนุน โบรกชี้ ‘หุ้นไทย’ เสี่ยงสูง ‘ศก.โลก-ไทย’ ขาย ‘แอลทีเอฟ’ “บล.พาย” แนะลงทุน “หุ้นปลอดภัย” กลุ่มโรงพยาบาล-ส่งออกสินค้าเกษตร
“หุ้นไทย” วานนี้ร่วงแรง 21 จุด รับสารพัดปัจจัยกดดัน “บล.กสิกรไทย” มองช่วงต้นปียังท้าทาย คาดหวังแรงหนุน “แจนยัวรี่เอฟเฟค” ได้ยาก “บล.เอเซียพลัส” ประเมิน หุ้นไทยต้นปีอาจไม่สดใส เผชิญขายคืน LTF คาด 2 หมื่นล้าน และไร้ฟันด์โฟลว์หนุน “บล.พาย” ชี้ปัจจัยความกังวลต่อ “เศรษฐกิจโลก” มองไทยยังเผชิฐความเสี่ยงสูง
ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วานนี้ (2 ม.ค.) ร่วงกว่า 21 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 1,379.85 จุด ลดลง 20.36 จุด หรือ 1.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) 36,852.83 ล้านบาท
นายรัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า วานนี้ดัชนีหุ้นไทยเปิดศักราช ปรับตัวลงจากหลายปัจจัย ทั้งเป็นการปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ ทั้งในส่วนของดัชนีหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงจากการขายทำกำไรช่วงปลายปีและดัชนีหุ้นเกิดใหม่ในภูมิภาคที่เผชิญแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูงและค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าหลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นในประเทศ มองตลาดรับรู้ประเด็นบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไปแล้ว ขณะมีแรงขายคืนกองทุน LTF ที่ครบกำหนดในปีนี้เข้ามาในช่วงต้นปี หากมองไปข้างหน้าแนวโน้มช่วงต้นปีนี้ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญอีกหลายประเด็นท้าทาย โดยเฉพาะอย่างวันที่ 20 ม.ค. นี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะมีท่าทีอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าสินค้า และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มอาจส่งผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น อาจคาดหวังเห็นดัชนีจะปรับตัวขึ้นในลักษณะ January effect ได้ยาก ดังนั้น ในเดือนม.ค.2568 ประเมินกรอบแนวรับและแนวต้านดัชนีที่ระดับ 1,360 และ 1,410 จุด ตามลำดับ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ปกตินักลงทุนมักคาดหวังกับ
January effect หากพิจารณาเป็นรายเดือนจะเห็นได้ว่า January effect ที่ปกติจะสดใสในอดีต แต่ปัจจุบันอาจไม่เหมือนเดิม เพราะมีความผันผวนของดัชนีมากขึ้น หลังหมดเงินหนุนจาก LTF ตั้งแต่ปี 2562 และยังมีแรงกดดันจากเม็ดเงิน LTF ที่พร้อมขายได้สูงขึ้นเป็น 2.3 แสนล้านบาท สูงกว่าต้นปีก่อนที่ 1.6 แสนล้านบาท ราว 43% คาดจะเห็นแรงขายออกมาในเดือนม.ค. 2568 เป็น 15,000-20,000 ล้านบาท กดดันฟันด์โฟลว์ช่วงต้นปี
ส่วนปัจจัยในประเทศแม้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่มีแนวโน้มเติบโตตามแต่ละส่วนประกอบ ของ GDP หลักๆ ตามความคาดหวังการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาลไทย อาทิ EASY E-RECEIPT, แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 แต่ระยะถัดไปการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจำกัด จากหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มปริ่มเพดาน 70%
โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index เดือนม.ค. 2568 ไว้ที่ 1,360-1,440 จุด และไตรมาส 1 ปี 2568 ยังรอเลือกทาง แนววัดใจที่แนวรับ 1,360 จุด สำหรับกลยุทธ์ม.ค. 2568 เน้น SELECTIVE หุ้นเฉพาะตัว แนะนำหุ้นเด่นน่าลงทุน 4 กลุ่ม 1.หุ้นผันผวนต่ำ 2. หุ้นปันผลสูง 3.หุ้นรับกระแสกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 4.หุ้นยุคทรัมป์ 2.0
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย กล่าวว่า จากสถิติมักพบว่าตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวดีขึ้นในเดือน ม.ค. โดย 10 ปี ย้อนหลังหุ้นไทยบวก 6 ปี และลบ 4 ปี แต่ ณ ปัจจุบันหุ้นไทยเปิดตลาดมาของศักราชใหม่ปี 2568 กลับร่วงลงมาอย่างแรง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก เพราะปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีของเศรษฐกิจโลกสักเท่าไร หลัก ๆ มาจากทรัมป์ที่สร้างแรงกดดันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่สหรัฐกับจีน แต่อาจจะเป็นสหรัฐกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
ขณะที่ เศษฐกิจไทยหากดูข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้แค่ 2.9% ถือว่าต่ำลง ซึ่งเศรษฐกิจไทยควรจะโตประมาณ 3-4% และมีโอกาสที่จะมีการปรับลดลงมา ทั้งนี้ มองสาเหตุที่ธปท. มองไว้ที่ 2.9% ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากสงครามการค้า เพราะว่ายังประเมินได้ยากว่าจะกระทบขนาดไหน นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจโลกไม่ดีอาจจะมีผลกระทบมายังการท่องเที่ยวอีกด้วย
“ความกังวลดังกล่าว จึงทำให้ไม่ได้ให้น้ำหนักกับ January Effect เท่าไร เพราะมองประเทศไทยยังมีความเสี่ยง สอดคล้องกับหุ้นปรับตัวลงมา และกระแสเงินทุนที่เสี่ยงว่าจะมีการไหลออกอีก เพราะเมื่อดูดอกเบี้ของสหรัฐ วันนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ครั้งเดียวในปีนี้ ถือว่าค่อนข้างน้อย”
ดังนั้น แนะนำด้วยสถาวะตลาดแบบนี้ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เน้นลงทุนใน “กลุ่มปลอดภัย” (Defensive Stock) เช่น โรงพยาบาล ส่งออกสินค้าเกษตร และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่าด้วย