สอบโบรก ‘จำนำ’ หุ้น RS ใช้ ’กองทุนส่วนบุคคล’ เลี่ยงรายงาน
สะพัด ก.ล.ต. ตรวจสอบโบรกปล่อยมาร์จินในและนอกตลาด วงในระบุจำนำนอกตลาดใช้ช่องโหว่ “กองทุนส่วนบุคคล” เพื่อหลบการตรวจสอบ และทำสัญญาแบ่งเปอร์เซนต์กันเอง กรณี RS คาดกู้นอกตลาดสูง 3 พันล้าน
ความเคลื่อนไหว ราคาหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงรุนแรงจนทำราคาฟลอร์ถึง 4 วันรวด (7-10 ม.ค.) จากประเด็นถูกบังคับขาย หรือ Force sell
หลังจากบริษัทออกมาชี้แจงล่าสุดมีการตรวจสอบ “ผู้บริหาร” ทำธุรกรรมทางการเงินส่วนบุคคลด้วยการนำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิน ทำให้เป็นสาเหตุราคาร่วงหลังเกิด Force sell จนมีการจับตามองไปที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 487 ล้านหุ้น สัดส่วน 22.32 %
โดย ราคาหุ้นRS ลงมาปิด 10 ม.ค. ที่ 1.50 บาท ลดลง 0.31 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 17.13 % แต่รวม 4 วันทำการราคาร่วงไปแล้ว 71 % หรือ 3.85 บาท จากราคา 5.35 บาท และมูลค่ามาร์เก็ตแคปลดลง 8,000 ล้านบาท จากปลายปี 2567 ที่ 11,893 ล้านบาท อยู่ที่ 3,949 ล้านบาท
ทั้งนี้การซื้อขายหุ้นช่วง 3 วันแรกที่ผ่านมาไร้แรงเสนอซื้อ (BID) มีแต่แรงเสนอขาย (Offer) แต่ในช่วงวันที่ 10 ม.ค. กลับมามีปริมาณและวอลุ่มหนาแน่นจนดัน หุ้น RS ขึ้นมามีวอลุ่มอันดับ 1 ตลาดหุ้นไทย ครึ่งวัน
แหล่งข่าวโบรกกเกอร์ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” การซื้อขาย 10 ม.ค. ไม่มีรายการ Big lot เกิดขึ้นมีการแมกซ์ราคาเยอะสุด 1.45 บาท หลังจากเริ่มมีการไล่ราคาแถวฟลอร์ที่ 1.27-1.31 บาทแต่ยังกระจุกตัวในรายย่อย ซึ่งแม้ว่าปริมาณหุ้นเกิดขึ้นจะเกินกว่าจำนวนจำนำหุ้นแต่ไม่ได้หมายความว่า Force sell จบลงหากมีข่าวลบใหม่เกิดขึ้นจะมีแรงขายได้อีก
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าธุรกรรมจำนำหุ้นนอกตลาดหุ้นของผู้บริหาร RS ทางก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบโบรกเกอร์สัญชาติเกาหลีแถวถนนวิทยุช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการให้บริการธุรกรรมดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทางการเริ่มเห็นช่องผ่านการให้บริการทางทางการเงินเฉพาะส่วนบุคคล ผ่านกองทุนส่วนบุคคล (private fund )ของโบรกเกอร์เพื่อหลบหนีการตรวจสอบจากทางการ
โดยมีวิธีการให้นำหุ้นไปไว้ที่กองทุนดังกล่าว จากนั้นโบรกจะจัดหาแหล่งเงินทุนกู้ยืมให้อัตราดอกเบี้ย 8-12 % และโบรกได้ค่าธรรมเนียม และยังมีข้อตกลงระหว่างผู้กู้กับโบรกอีกว่าหากราคาหุ้นขึ้นแบ่งเปอร์เซนต์กำไร หากราคาหุ้นลงต้องผู้กู้ต้องนำหุ้นหรือสินทรัพย์มาเติม
“กรณีเฮียฮ้อเฉพาะจำหุ้นนอกตลาดมีมูลค่า 1,000 บาท ด้วยมูลค่าหุ้นก่อนหน้านี้แถว 6-8 บาท จึงกู้ได้ 2.5 เท่าของมูลค่า เม็ดเงินน่าจะตกเกือบ 3,000 ล้านบาท เงินดังกล่าวไปหวังควบรวมหุ้น GIFT แต่ไม่สำเร็จและจมทุนยังเปิดสัญญา long ใน Block trade เพื่อประคองราคาหุ้น ทำให้ขาดสภาพคล่อง ราคาร่วงไม่มีสภาพคล่องไปเติมถูกโบรกForce sell ทั้งจำนำหุ้นนอกและในตลาดหุ้นแถมยังเป็นหนี้โบรกที่ปล่อยกู้ด้วย จึงเห็นว่ามูลค่าซื้อขาย 10 ม.ค.สูงมาก”
ดังนั้นจากนี้ให้จับตาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และการออกมาสังคยานาช่องทางหลบเลี่ยง เช่น เงื่อนไขกองทุนบุคคลที่เป็นช่องโหว่
ล่าสุดมีการชี้แจงของบล.ดาโอ กรณี Force sellS ระบุว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ RS ไม่มีธุรกรรมคงค้างในบัญชีมาร์จินกับบริษัท จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ Force sell และไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทยังคงมีสถานะการเงินที่มั่งคงเพียงพอในการประกอบธุรกิจและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มทีจากผู้ถือหุ้นใหญ่
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ซื้อขายหุ้น RS ปริมาณหุ้นรวมกัน 3 วันทำการยังมีส่วนต่างห่างจากปริมาณหุ้นที่ถูกนำไปวางจำนำหุ้นอีกมากรวมแล้วที่ 44 ล้านหุ้น จนกว่าปริมาณหุ้นจะสูงกว่าจำนวนที่นำไปจำนำไว้ถึงจะเห็นโอกาสราคาฟื้นแต่คงไม่กลับไปราคาเดิม
โดยการฟื้นตัวของราคาหุ้นจะเป็นการเก็งกำไรแทนเพราะเมื่อราคาหุ้นลงไปลึกเมื่อมีการรีบาวนด์ของราคาหุ้นเล็กน้อยมีเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นสูงไปด้วย ดังนั้นการลงทุนจึงมีความเสี่ยงและนักลงทุนต้องระมัดระวังการซื้อขายด้วย