บริหารความเสี่ยง สร้างโอกาสทำกำไร ด้วยคอลออปชัน

คอลออปชันเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เพื่อให้จัดการพอร์ตลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าคอลออปชันจะมีหลักการพื้นฐานที่เข้าใจไม่ยากและเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่การใช้งานในทางปฏิบัติก็ต้องอาศัยการศึกษาทำความเข้าใจ
การลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน ผู้ลงทุนต้องบริหารจัดการพอร์ตลงทุน ทั้งในด้านตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง โดยในสถานการณ์ที่ตลาดปรับตัวลง ก็ต้องบริหารความเสี่ยงไม่ให้มูลค่าพอร์ตลดลงต่ำมากเกินไป ในทางตรงข้าม หากเห็นว่าตลาดอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นขาขึ้น แต่ก็ยังไม่มั่นใจมาก ก็อาจนำออปชันมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบริหารจัดการสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุนได้ โดยในสถานการณ์หลังนี้ ‘คอลออปชัน’ ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานที่คล้ายคลึงกับการจ่ายค่าจองสิทธิการซื้อสินค้าบางอย่างในอนาคตนั้น จัดเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้
เพื่อเห็นภาพชัดขึ้น หากเปรียบพุทออปชันเป็นเสมือนการซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสียหาย คอลออปชันก็เปรียบได้กับการจ่ายค่าจองสิทธิซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้า โดยมีการกำหนดราคาซื้อสินค้าไว้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่ามีศิลปินประกาศออกอาร์ตทอยคอลเลกชันใหม่ในอีกสามเดือนข้างหน้า และเปิดให้ผู้สนใจจองสิทธิซื้อล่วงหน้าโดยต้องจ่ายค่าจองจำนวนหนึ่ง สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อสะสมแต่กังวลว่าราคาจะปรับสูงขึ้นในอนาคตจนเกินงบประมาณ การจองสิทธิไว้ล่วงหน้าจะทำให้สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ตกลงกันไว้ แม้ราคาตลาดในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้นมากก็ตาม
ขณะเดียวกัน สำหรับกลุ่มผู้ที่มองหาโอกาสทำกำไร หากประเมินว่าสินค้าในคอลเลกชันนี้จะได้รับความนิยมสูง ก็อาจจองสิทธิซื้อไว้ล่วงหน้าเพื่อล็อกราคาซื้อไว้ เมื่อถึงเวลาที่สินค้าวางจำหน่ายจริง หากมีความต้องการซื้อมาก ราคาสูงขึ้นตามที่คาด ก็จะใช้สิทธิซื้อสินค้าตามราคาที่จองไว้แล้วนำไปขายทำกำไรต่อ ในตัวอย่างข้างต้น หากกลับกัน สมมติว่าสินค้าไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาดไว้ ราคาตลาดต่ำกว่าราคาจอง ในกรณีนี้ กลุ่มผู้ที่จองซื้อไปแล้ว ก็อาจจะต้องคิดว่าทิ้งใบจองไป แล้วไปซื้อสินค้าในตลาดรีเซลจะถูกกว่าหรือไม่หากยังต้องการสินค้านั้นอยู่ หรือหากเป็นกลุ่มผู้เก็งกำไรก็อาจทิ้งใบจอง ยอมขาดทุนค่าจองไป
ในแง่ของการลงทุน คอลออปชันก็มีหลักการทำงานในลักษณะเดียวกันกับใบจองสิทธิในตัวอย่างข้างต้นโดยหากผู้ลงทุนมองว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ก็จะจ่ายเงินค่าซื้อคอลออปชัน (เรียกว่า ค่าพรีเมียม) ซึ่งเปรียบได้กับการจ่ายค่าจองซื้อสินทรัพย์ไว้ก่อน เพื่อให้ได้สิทธิซื้อสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตตามราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หากในอนาคตสินทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้นจริง ผู้ลงทุนจะใช้สิทธิ ทำให้ได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาตลาดของสินทรัพย์กับราคาใช้สิทธิ ทั้งนี้ ต้องหักต้นทุนค่าซื้อพรีเมียมที่จ่ายไปด้วย จึงจะเป็นกำไรสุทธิ ในทางตรงข้าม หากราคาสินทรัพย์ลดต่ำลง ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ผู้ถือคอลออปชันก็ปล่อยให้สิทธิหมดอายุไป ในกรณีก็จะขาดทุนเท่ากับค่าพรีเมียมที่จ่ายซื้อออปชันไป
สำหรับผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยสามารถใช้ “คอลออปชันที่อ้างอิงกับดัชนี SET50” (SET50 Index Options) เพื่อบริหารพอร์ตลงทุน ซึ่งมีสัญญาให้เลือกหลากหลายเงื่อนไขตามความต้องการ เช่น มีอายุสัญญาให้เลือกตั้งแต่ระยะสั้นประมาณ 1 เดือน ไปจนถึงระยะยาวสูงสุดประมาณ 6 เดือน และมีราคาใช้สิทธิซื้อสินทรัพย์ในอนาคตในหลากหลายระดับให้เลือก ยกตัวอย่างการเลือกใช้งาน สมมติว่าปัจจุบันดัชนี SET50 อยู่ที่ 890 จุด ผู้ลงทุนมีแผนการซื้อหุ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยมองว่าในอนาคตดัชนี SET50 อาจปรับตัวขึ้น และไม่ต้องการเสี่ยงที่อาจต้องซื้อหุ้นในราคาสูงกว่า 980 จุด (สูงกว่าปัจจุบัน 10%) ก็สามารถใช้คอลออปชันอายุ 3 เดือน ราคาใช้สิทธิไม่เกิน 980 จุด เพื่อการันตีสิทธิการซื้อหุ้นในราคานี้ไว้ ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่ต้องการเก็งกำไรจากราคาหุ้น ก็สามารถใช้คอลออปชันเงื่อนไขเดียวกันนี้สร้างโอกาสทำกำไร หากดัชนีเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 980 จุด แต่หากดัชนีไม่ได้เพิ่มอย่างที่กังวลหรืออย่างที่คาดก็จะเสียเพียงค่าพรีเมียมที่จ่ายไปตอนแรกเล็กน้อย
ทั้งนี้ ค่าพรีเมียมของคอลออปชันก็จะแปรผันตามเงื่อนไขของสัญญานั้นๆ เช่น คอลออปชันที่มีอายุสัญญายาวกว่าก็จะแพงกว่าคอลออปชันที่มีอายุสั้น เนื่องจากมีเวลาให้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวได้นานขึ้น จึงเพิ่มโอกาสที่ราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวสูงจนเกิดกำไรได้มากขึ้น และคอลออปชันที่ให้สิทธิซื้อสินทรัพย์อ้างอิงในราคาต่ำ ก็จะแพงกว่าคอลออปชันที่ให้สิทธิซื้อสินทรัพย์อ้างอิงในราคาสูง เพราะผู้ซื้อมีโอกาสเกิดกำไรได้มากกว่านั่นเอง
เห็นได้ว่าคอลออปชันเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เพื่อให้จัดการพอร์ตลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าคอลออปชันจะมีหลักการพื้นฐานที่เข้าใจไม่ยากและเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่การใช้งานในทางปฏิบัติก็ต้องอาศัยการศึกษาทำความเข้าใจ ทั้งในเรื่องกลไกการทำงาน การประเมินราคาที่เหมาะสม การจัดการความเสี่ยง และกลยุทธ์การใช้งานให้ตอบวัตถุประสงค์การลงทุน ซึ่งสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ www.setinvestnow.com และ www.TFEX.co.th