ตลาดอึมครึมทุบ‘หุ้นไทย’ ดัชนีดิ่ง 26 จุด เหตุ ‘ขาดความเชื่อมั่น’ ศก.ไทย-นอกเสี่ยงสูง
![ตลาดอึมครึมทุบ‘หุ้นไทย’ ดัชนีดิ่ง 26 จุด เหตุ ‘ขาดความเชื่อมั่น’ ศก.ไทย-นอกเสี่ยงสูง](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/I2DOaxBnuSFey234e6id.webp?x-image-process=style/LG)
ตลาดอึมครึมทุบ‘หุ้นไทย’ ดัชนีดิ่ง 26 จุด เหตุ ‘ขาดความเชื่อมั่น’ ศก.ไทย-นอกเสี่ยงสูง โบรกคาดดีล “ซีพี ออลล์” อาจเข้าร่วมซื้อกิจการเซเว่นที่ญี่ปุ่น ทำนักลงทุนเทขายหุ้น
วานนี้ “หุ้นไทย” ดิ่งแรง 26.72 จุด มาปิดตลาด 1,262.07 จุด “ไพบูลย์” ชี้ตลาดขาดความเชื่อมั่นรุนแรง ชี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด่วน หลังภาพ “เศรษฐกิจไทย-ต่างประเทศ” มีความไม่แน่นอนสูง เครื่องยนต์หนุนเศรษฐกิจเริ่มโตชะลอตัว “บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์” คาดนักลงทุนกังวลดีล “ซีพี ออลล์” ร่วงวงซื้อเซเว่นญี่ปุ่น กระทบเซนติเมนต์ไม่ดี
ความเคลื่อนไหว “ดัชนีหุ้นไทย” วานนี้ (6 ก.พ.2568) ร่วงแรง 26.72 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 24.67 จุด หรือ 1.92% มาอยู่ที่ 1,262.07 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) 48,143.21 ล้านบาท
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หุ้นไทยปรับตัวลงแรงวานนี้ไม่ได้มีปัจจัยใหญ่ๆ เข้ามากระทบให้ตลาดปรับตัวลงแรง ดังนั้น การที่ตลาดหุ้นร่วงหนัก สะท้อนภาพนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ว่าหุ้นไทยจะลงไปขนาดไหน เพราะว่ายังไม่เห็นปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน
ดังนั้น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดหุ้นปล่อยสถานการณ์ไปเช่นนี้เรื่อยๆ และไม่ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน “หุ้นไทยก็น่าเป็นห่วงมาก” ด้วยปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน ทั้งเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัว เครื่องยนต์ที่มองว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐไทยให้เติบโต อย่าง “ท่องเที่ยวและส่งออก” ก็มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว ซึ่งท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวจำนวน 39 ล้านคน โตแค่ 10% จากปีก่อนที่ 35 ล้านคน ส่วนส่งออกปีนี้เจอความไม่แน่นอนของสงครามการค้าเข้ามาอีก ส่วนประเด็นต่างชาติเข้ามาลงทุนไทยผ่าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศก็ยังต้องติดตามใกล้ชิด จากนโยบายของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์”
อย่างไรก็ตาม มองว่าในวิกฤติก็ยังมีโอกาส ซึ่งหากนักลงทุนเห็นภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นได้ เพียงแต่ตอนนี้นักลงทุนรายย่อยกำลังอยู่ในช่วงแพนิก (Panic) แต่หากดูในตลาดยังมีหุ้นที่ดีและพื้นฐานธุรกิจไม่ได้เปลี่ยน สะท้อนจากปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนติดลบ แต่ก็ยังมีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาได้ เพียงแต่ช่วงเวลานี้นักลงทุนต้องเลือกลงทุนหุ้นให้ถูกตัว
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นปรับตัวลงมาแรงจากความกังวลของนักลงทุนต่อหุ้น บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับเซเว่นญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนเทขายออกมา และส่งผลต่อภาพรวมเชิงเซนติเมนต์ไม่ดี ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวเกี่ยวกับนักลงทุนที่ถือ กองทุน LTF ที่ครบกำหนดในปีนี้และสามารถขายได้รวม AUM ประมาณ 200,000 กว่าล้านบาท เมื่อตลาดเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดการตัดสินใจเทขายออกมาได้ง่ายเนื่องจากบรรยากาศไม่ดี ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า หุ้นหลาย ๆ ตัว ที่มีความกังวลเอินนิ่งไตรมาส 4 ปี 2567 จะไม่ค่อยดีก็ถูกโดนเช็กบิลออกมา อย่าง WHA ต่อเนื่องจากหุ้น OSP ซึ่งยังไม่ทันได้มีการประกาศงบแต่เป็นแค่การพรีวิว ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อข่าวลบมากยิ่งขึ้น แรงซื้อน้อยลง จึงเป็นสาเหตุทั้งหมด ขณะที่ DELTA เป็น่สวนหนึ่งของการฉุดตลาดเช่นกัน
“เตรียมรับมือและรับแรงกระแทกกับหุ้นที่ผลประกอบการจะออกมาไม่ดี ซึ่งก่อนหน้าก็มีตัวอย่างให้เห็น ทำให้เกิดอาการแพนิก ส่วนกลุ่มแบงก์ผลประกอบการยังยืนได้ สามารถคาดหวังปันผลได้ ส่วนหุ้นท่องเที่ยว อย่าง ERW , CENTEL ดูดีขึ้น โดยนักลงทุนอาจจะต้องปรับแผนการลงทุนหากลงทุนในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็กอาจจะยิ่งเหนื่อย หาตัวดี ๆ ยาก”
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลต่อไปว่า สาเหตุที่หุ้นปรับตัวลงมาแรง หลังจากที่บลูมเบิร์ก รายงานว่า หุ้น CPALL อาจเข้าร่วมซื้อกิจการเซเว่นที่ญี่ปุ่น ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ CPALL อาจจะเพิ่มจาก 0.8 เท่า ขึ้นไปเป็น 1.2 เท่า และถ้าต้นทุนการกู้สูงก็จะทำให้กำไรในปีนี้ลดลง เพราะฉะนั้นเป็นการยืนยันว่า CPALL น่าจะเข้าไปร่วมซื้อตรงนี้ ทำให้ตลาดไม่ได้มองบวกกับเรื่องดังกล่าว
ส่วนเรื่องที่ 2 DELTA ประสบกับเกณฑ์ใหม่ที่ตลาดมีการควบคุมกับหุ้นที่มีน้ำหนักมากเกินไปต่อดัชนี ซึ่ง DELTA ทุก 1 บาทที่ลง จะกระทบดัชนีหุ้นไทย 1.2 จุด คิดเป็น 13% ของมาร์เก็ตแคป ส่งผลให้นักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และนักลงทุนต่างชาติต้องเทขาย DELTA ออกมาก่อน เพราะหากเกณฑ์ใหม่ออกมาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถือต่อไป เพราะเกณฑ์ใหม่จะไม่ให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 10% ทั้งนี้ จึงกลายเป็นหุ้น 2 ตัวใหญ่ ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มค้าปลีก ฉุดให้หุ้นในกลุ่มร่วงลงมาด้วย