ตลท.เปิดโครงการ Jump+ ขับเคลื่อน'หุ้นไทย' จูงใจ บจ. เพิ่ม Incentive-ยกเว้นภาษีส่วนเพิ่ม

ตลท.เปิดโครงการ Jump+ ขับเคลื่อน 'หุ้นไทย' จูงใจบริษัทจดทะเบียน เพิ่ม Incentive-ยกเว้นภาษีส่วนเพิ่ม บล.กสิกรไทย มองว่า เป็นโครงการที่ดีจะมาเพิ่ม Incentive บริษัทจดทะเบียนที่สามารถทำผลกำไร และจะช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทย ขณะที่ บล.พาย มองว่า อาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ดึงต่างชาติกลับมาได้
ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก รวมถึงไทย หลังจากที่ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยืนยันการจัดเก็บภาษีนำเข้าแคนาดาและเม็กซิโก 25% มีผลวันที่ 4 มี.ค.นี้ และจะเรียกเก็บภาษีจากจีนเพิ่มอีก 10% มีผลในวันเดียวกัน
ขณะที่ปัญหาในประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงมาก รวมถึงค่าเงินบาทผันผวนจากผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยอ่อนแอลง และไทยอาจเสียภาษีนำเข้าไปสหรัฐด้วยหรือไม่ ยังคงต้องจับดา!!!
จากปัญหาต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาในตลาดหุ้นไทยส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2568 ดิ่งหนักสุดในภูมิภาค -13.18% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นฮ่องกง +18.24% หรือตลาดหุ้นเกาหลีใต้ +9.26%
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเร่งหามาตรการเพื่อหนุนดัชนีเพิ่มความเข้มแข็ง ของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ผ่านโครงการ "Jump+" เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นรายละเอียดชัดมากขึ้นในเดือน มี.ค.2568 นี้ และจะเริ่มนำมาใช้ในเดือน พ.ค.2568
โดย บล.กสิกรไทย มองว่าโครงการ "Jump+" เป็นโครงการที่ดีจะมาเพิ่ม Incentive บริษัทจดทะเบียนที่สามารถทำผลกำไร และจะช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยได้โดยปริยาย ขณะที่ บล.พาย มองว่า อาจจะช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ก็จะช่วยประชาชนมีกำลังซื้อ ผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ มีกำไร รายได้ตามเป้าหมาย และดึงนักลงทุนต่างชาติกลับมาได้
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการหารือกันเพื่อหาแนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นของบริษัทจดทะเบียนไทยผ่านโครงการ "Jump+" โดยคาดการว่าในเดือน มี.ค.2568 จะได้เห็นความชัดเจนของมาตรการนี้ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะมีการนำมาใช้ในเดือน พ.ค.2568 ซึ่งมีมุมมองเป็น "บวก" ต่อมาตรการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ยังไมได้เห็นรายละเอียดของโครงการทั้งหมดว่าจะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นเป็นการเพิ่ม Incentive หรือการจูงใจ ให้กับบริษัทที่สามารถทำเป้าของรายได้ที่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ โดยยกเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่ม
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ บริษัทให้เป้าหมายของรายได้การเติบโตไว้ จึงทำให้หุ้นขึ้นปรับตัวขึ้นไป แต่เมื่อถึงช่วงสิ้นปีสุดท้ายกลับทำไม่ได้ตามที่ได้ประกาศออกไป หุ้นก็ร่วงกลับลงมา ดังนั้น โครงการ "Jump+" เป็นการเพิ่ม Incentive ให้บริษัทหากทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ได้ ก็จะสามารถได้ TAX Incentive สมมุติว่า การเริ่มเข้าโครงการ "Jump+" บริษัทมีการตั้งเป้าไว้ที่ 100 ล้านบาท และในอนาคตตั้งเป้าเพิ่มไปอีก และสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ ก็จะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และได้สิทธิทางภาษี หากบริษัทนั้น ๆ ทำได้
และจากข้อมูล พบว่า หากย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ ปี 2565 - 2567 ที่สามารถทำได้ติดต่อกัน 3 ปี หุ้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก การเงิน การธนาคาร เช่นกลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์ ซึงหุ้นที่ประมาณ 192 บริษัท มีเพียงประมาณ 13% ที่ทำได้ 3 ปีติดต่อกัน และหากมองคร่าว ๆ ว่า บริษัทเหล่านี้เข้าเกณฑ์ ความหมายคือ จะได้รับประโยชน์ทางภาษีรวมกันประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัพไซด์ต่อ EPS ในปี 2569 ที่ 3% ถือว่าค่อนข้างเยอะ หากสามารถทำได้ และได้ภาษีได้เท่าเดิม รายได้ส่วนเพิ่ม และกำไรส่วนเพิ่มไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นโครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นดัชนีหุ้นไทยได้
ปัจจุบันมีการประเมินกรอบแนวรับบริเวณ 1180 จุด ซึ่งระดับนี้ หากคิดเป็น P/E ที่ 12.5 เท่า โดยมองในระดับนี้เป็นจุดเริ่มซื้อ แต่สิ่งที่ต้องยังตามต่อคือ ในเดือนมี.ค.2568 นอกหนือจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน ที่โดนจัดเก็บภาษีจากสหรัฐ และในประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยจะโดนผลพวงจากภาษีด้วยหรือไม่ ยังคงต้องจับตาในขณะที่ซึ่งถือเป็นเรื่องเดียวที่มีผลกับตลาดว่าจะปรับขึ้น หรือลงไปต่อหรือไม่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมา หรือจีดีพีตลาดรับรู้ไปหมดแล้ว
เพราะฉะนั้นหากมองสถานการณ์หากไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่คาดการณ์ไว้และจบแค่ที่ เม็กซิโก แคนนาดา และจีน ซึ่งดัชนีหุ้นไทยกรอบรับรู้จากผลกระทบทางอ้อมในเรื่องดังกล่าวไปพอสมควรที่ 1180 จุด ส่วนโครงการ "Jump+" ที่จะเข้ามาช่วย มองว่า หากมีการประเมินบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้ใน 20-30 บริษัท สามารถทำได้ กำไรของตลาดหุ้น หรือ EPS จะบวกได้ประมาณ 3% ซึ่งหากคูณดัชนีหุ้นไทยเข้าไป Valuation จะบวกประมาณ 30-40% โดยประมาณ จึงมองเป็นปัจจัยบวก ที่จะเพิ่ม EPS ให้กับกำไรตลาดหุ้นไปโดยปริยาย
วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ดังนั้นกระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงต้องการออกมาหามาตรการบางอย่างในการช่วยตลาดหุ้นไทย จึงมีการหารือกันเพื่อเกิดโครงการ "Jump+" โดยร่วมมือกับบริษัทจดทะเบียน ที่จะเข้ามาช่วยและความสามารถในการทำกำไรได้ มองว่าอาจจะเข้ามาช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยได้บ้าง
ทั้งนี้ หากมองในภาพใหญ่ย้อนไป 13 ปีที่แล้ว ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1300 จุด ณ ปัจจุบันต่ำกว่าเดิมหลุด 1200 จุด (28 ก.พ.2568) ในขณะที่ประเทศอื่นเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน สหรัฐถือว่าปรับตัวขึ้นมาเยอะมากในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา และหากย้อนไปดูเศรษฐกิจไทยในอดีตโตได้ 4-5% ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2.6% ดังนั้นความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนควรจะเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ
ดังนั้นทิศทางตลาดหุ้นไทย ยังคงต้องกลับมาดูรายตัว เพราะในแง่ของดัชนีหุ้นไทยยังคงมีความผันผวน โดยหุ้นไทยปรับตัวลงมาจากระดับ 1700 จุด และวันนี้ (28 ก.พ.2568) ต่ำกว่า 1200 จุด P/E อยู่ที่ 13 เท่า ส่วน EPS อยู่ราว 90-100 บาท ในขณะที่ฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกง P/E 10 เท่า
"ส่วนตัวมองว่า โครงการ Jump+ ถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ด้วยเศรษฐกิจไทยยังคงประสบกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะที่ อสังหา หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยังไม่ค่อยสู้ดีนัก"
ทั้งนี้ ยังมองว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะซึม แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะเข็นโครงการต่าง ๆ ออกมาช่วยหนุนเศรษฐกิจทุกรูปแบบ เพื่อถึงนักลงทุนต่างชาติกลับมา และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนดีขึ้น
สำหรับโครงการ Jump+ เป็นมาตรการกระตุ้นตลาดที่เสนอมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยได้เข้าหารือเบื้องต้นกับกระทรวงการคลังในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ซึ่งจะเป็นการยกเว้นกำไรภาษีส่วนเพิ่ม ให้กับบริษัทที่ร่วมโครงการ แล้วสามารถดำเนินการสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.นี้จะคิกออฟโครงการ Jump+ และปีนี้จะคัดเลือกบริษัทจดทะเบียน เข้าร่วมโครงการ 50 บริษัท
โดย โครงการ Jump+ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนกลยุทธ์ปี 2568-2570 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน และเพิ่มมูลค่าตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการขยายตัวของธุรกิจ เพิ่มมูลค่ากิจการในช่วง 3 ปีข้างหน้า และสื่อสารข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้น เพื่อสร้างความสนใจและดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ซึ่งจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการ Jump+ ได้ในเดือนพฤษภาคม 2568
สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการ Jump+ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งในนั้นคือ การยกเว้นภาษีสำหรับกำไรส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจากแผนธุรกิจภายใต้โครงการ จะได้รับการยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้บริษัทมุ่งเน้นการขยายตัวของธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
เป้าหมายของโครงการ Jump+ ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนด KPI ที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งเน้นไปที่การสร้างการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้ก้าวสู่อนาคตอย่างมั่นคง