วิเคราะห์หุ้น ‘อาเซียน’ เริ่มหมดเสน่ห์ ? เสียสถานะตลาดลงทุนทางเลือก

วิเคราะห์หุ้น ‘อาเซียน’ เริ่มหมดเสน่ห์ ? เสียสถานะตลาดลงทุนทางเลือก

วิเคราะห์ตลาดหุ้น ‘อาเซียน’ เริ่มหมดเสน่ห์? เสียตำแหน่งตลาดลงทุนทางเลือก แม้ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า ‘สหรัฐ-จีน’ แต่เศรษฐกิจแต่ละประเทศมีปัญหา

KEY

POINTS

  •   “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เคยถูกมองว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทานแทนจีน และเคยถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามภาษีของทรัมป์ 
  • ตลาดหุ้น “อินโดนีเซีย” ร่วงลงอย่างรุนแรงจนทำผงานติดลบเทียบเท่าตลาดหุ้น “ไทย” ติดกลุ่มหุ้นที่มีผลงานต่ำที่สุด 10 อันดับแรก
  • แม้ว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่แพ้ภัยตัวเอง เพราะแต่ละประเทศมีปัญหาเฉพาะตัว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหุ้น “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ร่วงลงอย่างหนักกำลังสูญเสียความน่าดึงดูด โดยภูมิภาคนี้เคยถูกมองว่าเป็น “แหล่งหลบภัย” สำหรับนักลงทุนท่ามกลางสงครามภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”  เนื่องจากราคาหุ้นในภูมิภาคร่วงลงอย่างหนัก

โมเมนตัมนี้เกิดขึ้นหลังจากตลาดหุ้น “อินโดนีเซีย” ร่วงลงอย่างรุนแรงจนทำผงานติดลบเทียบเท่าตลาดหุ้น “ไทย” และเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นหลักทั้ง 92 ตัวของบลูมเบิร์ก มาเลเซียอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีผลการดำเนินงานต่ำที่สุด 10 อันดับแรก

วิเคราะห์หุ้น ‘อาเซียน’ เริ่มหมดเสน่ห์ ? เสียสถานะตลาดลงทุนทางเลือก

ดัชนีตลาดหุ้นจาการ์ตา (Jakarta Composite) ของอินโดนีเซียร่วงลงอย่างมากถึง 20% จากจุดสูงสุดในเดือนก.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  

 เสียตำแหน่งตลาดลงทุน ‘ทางเลือก’

 ก่อนหน้านี้ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เคยถูกมองว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทานแทนจีน และเคยถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามภาษีของทรัมป์ แต่ปัจจุบันความน่าสนใจนี้ได้ลดลงอย่างมาก 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ กลายเป็นความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ในภูมิภาคนี้

  • อินโดนีเซีย

ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการรวมอำนาจของประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโตทำให้ตลาดการเงินสั่นคลอน และทำให้ตลาดหุ้นล่มสลายจนมีผลขาดทุนใกล้เคียงกับไทย

  • ไทย

ความรู้สึกด้านลบต่อเศรษฐกิจมีความรุนแรงมากจนความพยายามในการฟื้นฟูตลาดไม่ประสบความสำเร็จ

  • มาเลเซีย

อุตสาหกรรมการส่งออกชิปกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ และติดอยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุด 10 อันดับ

สถานการณ์นี้ทำให้กองทุนจากทั่วโลกต่างทยอยถอนเงินออกจากตลาดในภูมิภาคนี้ ทำให้ดัชนี MSCI Asean ตกลงอย่างมาก 

วิเคราะห์หุ้น ‘อาเซียน’ เริ่มหมดเสน่ห์ ? เสียสถานะตลาดลงทุนทางเลือก

ข้อมูลของ Bloomberg ระบุว่าตลาดทั้ง 5 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยอินโดนีเซียสูญเสียเงินลงทุนไปเกือบ 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาค

ซิน เหยา อึ๊ง ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของ Aberdeen Investments กล่าวว่าการเมืองและเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอในอาเซียนกำลังทำให้ทัศนคติเชิงลบต่อภูมิภาคนี้เลวร้ายลงในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามการค้าและความก้าวหน้าของ AI จากจีน 

โอกาสลงทุนอาเซียน

การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้เกิด  “dip-buy calls” หรือการเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาลดลง ขณะเดียวกัน UBS Group AG ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเป็น "overweight" ในสัปดาห์นี้ โดยมองว่าผลกระทบจากนโยบายที่ทำให้เกิดการเทขายหุ้นนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ในรายงานอีกฉบับ พวกเขายังระบุว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียในปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการ "ซื้อ" อีกด้วย

รายงานระบุว่าหุ้นในภูมิภาคอาจมีราคาที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยดัชนี SET ของไทยมีการซื้อขายที่อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) 12 เท่า  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีที่ 14.5 เท่า ขณะเดียวกันอัตราส่วน P/E ของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหลายปีเช่นกัน  

เตือนระวังปัญหาเศรษฐกิจมหภาค

อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลหลายประการที่นักลงทุนควรระมัดระวัง แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนกระตุ้นตลาดหุ้นมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงและข่าวอื้อฉาวของบริษัทต่างๆ ก็ยังคงกดดันตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของฟิลิปปินส์ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากความขัดแย้งเกี่ยวกับอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต

นิรกุนัน ติรุเชลวัม นักวิเคราะห์จาก Aletheia Capital กล่าวว่าแม้ว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ตลาดอาเซียนแต่ละแห่งก็มีปัญหาเฉพาะตัวที่กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้  

อ้างอิง Bloomberg