In The Fog of Trade War..การลงทุนภายใต้ม่านหมอกของสงคราม (การค้า)

In The Fog of Trade War..การลงทุนภายใต้ม่านหมอกของสงคราม (การค้า)

สงครามการค้าระลอกใหม่ยังมีความไม่ชัดเจนและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาทั้งทางบวก (สามารถเจรจากันได้ หรือผลกระทบน้อยกว่าที่นักลงทุนประเมิน) หรือสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงในทางลบ ในกรณีที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกหรือมีความชัดเจนสินทรัพย์การลงทุนโดยรวมก็จะฟื้นตัวและเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนอีกครั้งในระดับราคาที่มีความน่าสนใจมากขึ้น

หลังทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. 2025 กับทุกประเทศทั่วโลก เป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานลงในช่วงต้นเดือน เม.ย. และคาดว่าจะเผชิญกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 1-2 เดือนจากนี้ไป ตามการตอบโต้ทางภาษีระหว่างจีน - สหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดหุ้นครั้งนี้สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อผลกระทบจากสงครามการค้าที่จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจีนใช้นโยบายตอบโต้ด้านภาษีต่อสหรัฐฯ ที่ระดับ 84% และในเวลาถัดมาสหรัฐฯ ก็ตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีอีกหลายครั้งต่อจีนรวมเป็น 125% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ทรัมป์เคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะขึ้นภาษีกับจีน 60% ดังนั้นหากอัตราภาษีนี้ถูกบังคับใช้ คาดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกจะมากกว่าที่นักลงทุนเคยประเมิน โดยในเดือน ม.ค. 2025 IMF ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2025-2026 ที่ระดับ 3.3% ทั้ง 2 ปี ซึ่งเรามองว่าในช่วงที่เหลือของปี 2025 จะเริ่มเห็นการ Downgrade การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง ซึ่งอาจเห็นในรายงานของ IMF ที่กำลังจะออกมาในช่วงเดือน เม.ย. นี้

การขึ้นภาษีสินค้านำของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้ Supply Chain โลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเกิดคำถามที่สำคัญ คือ โลกเราจะกลับมาอยู่ในภาวะทวนกระแสโลกาภิวัตน์หรือ Deglobalization แล้วใช่หรือไม่? การค้าเสรีที่เคยทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญรุ่งเรือง เพราะได้รับประโยชน์จากการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า-บริการที่ตนเองมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจทำลายการผลิตที่มีประสิทธิภาพนี้ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนเศรษฐกิจโลกรวมถึงตลาดการลงทุน อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs Securities “Countdown to Recession” ณ วันที่ 6 เม.ย. 2025 ได้ประเมินโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 45% เทียบกับการประเมินครั้งก่อนที่ 35% และเทียบกับการประเมินในเดือน ต.ค. 2024 ที่ประเมินโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยเพียง 15% ตามลำดับ จากการศึกษาดังกล่าวได้สะท้อนการปรับมุมมองเศรษฐกิจของนักวิเคราะห์ต่อความเสี่ยงจากนโยบายภาษีอย่างชัดเจน 

แม้ปัจจุบันสินทรัพย์เสี่ยงโดยส่วนใหญ่เผชิญกับความผันผวนและการปรับสถานะของนักลงทุน แต่เราก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เม็ดเงินที่นักลงทุนขายปรับสถานะมีการไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์ใด แน่นอนว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คือเงินสด แต่หากจะระบุให้ชัดเจนกว่านั้นโดยมีตัวเปรียบเทียบ คือ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เราพบว่าค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 2.23% และค่าเงิน ฟรังก์สวิสเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นราว 4.06% ตามลำดับ ในช่วงวันที่ 1- 8 เม.ย. 2025 อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg ในขณะที่ดัชนีของมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าสกุลเงินต่างประเทศหรือ Dollar Index อ่อนค่าลงราว 1.25% จากข้อมูลดังกล่าวอาจอนุมานได้ว่า 2 สกุลเงินข้างต้นถูกใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับนักลงทุนในการพักเงินท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก (Safe Heaven Currency) อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกเผชิญกับวิกฤติในช่วง 30 ปีล่าสุด จะพบว่า

1. ในวิกฤต Dot-Com Bubble ช่วงปี 2000-2002 (นับจากวันที่ 10 มี.ค. 2000-30 ก.ย. 2002) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อิงดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงราว -41.56% ส่วนดัชนี Nasdaq Composite ปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกันราว -76.78% ในทางตรงกันข้ามค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าราว +11.67% และทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +11.96% ตามลำดับ

2. วิกฤติ Hamburger Crisis ปี 2007-2009 (นับจากวันที่ 9 ส.ค. 2007 – 2 มี.ค. 2009) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อิงดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงในช่วง 2 ปี ราว -51.77% ส่วนดัชนี Nasdaq Composite ปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกันราว -48.26% ในทางตรงกันข้ามค่าเงินฟรังก์สวิสเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าราว +1.76% ค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าราว +17.52% และทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +39.86% ตามลำดับ 

3. วิกฤติโควิด 19 (นับจากวันที่ 31 ธ.ค. 2019-23 มี.ค. 2020) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อิงดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง ราว -30.75% ส่วนดัชนี Nasdaq Composite ปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกันราว -23.54% ในทางตรงกันข้ามราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว +2.37% 

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานกับวิกฤติในอดีต..แม้จะอยู่บนบริบทของปัจจัยแวดล้อมและสาเหตุที่แตกต่างกัน แต่ก็พบจุดร่วมที่น่าสนใจคือ นักลงทุนใช้เงินบางสกุล อาทิ เยน, ฟรังก์สวิส และสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ สำหรับกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งเราอาจพิจารณานำบทเรียนในอดีตนี้มาปรับใช้กับช่วงเวลาปัจจุบันได้ ทั้งนี้สำหรับสงครามการค้าระลอกใหม่ยังมีความไม่ชัดเจนและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาทั้งทางบวก (สามารถเจรจากันได้ หรือผลกระทบน้อยกว่าที่นักลงทุนประเมิน) หรือสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงในทางลบ ในกรณีที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกหรือมีความชัดเจนสินทรัพย์การลงทุนโดยรวมก็จะฟื้นตัวและเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนอีกครั้งในระดับราคาที่มีความน่าสนใจมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากสถานการณ์แย่ลง นักลงทุนควรลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง และอาจพิจารณาสะสมเงินสดในสกุลที่อาจเป็น Safe Heaven, เพิ่มการลงทุนในทองคำ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภคนอกตลาด (Private Infrastructure) ซึ่งมี Correlations กับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ต่ำ เป็นต้น ที่สำคัญนักลงทุนควรมีสติและรอบคอบในการรับข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่มักจะนำเสนอข้อมูลเชิงลบซึ่งจูงใจให้คนอ่านได้ง่ายกว่า