รู้จัก “โรคไบโพลาร์” พร้อมวิธีสังเกตอาการและวิธีดูแลผู้ป่วย
“โรคไบโพลาร์” เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปแต่ตนเองและคนรอบตัวอาจไม่ทันสังเกตทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไป
จากกรณี เจย์ ศุภกาญจน์ ปลอดภัย ศิลปินและอดีตดีเจคลื่น 98.5 Good FM ถูกพบว่านอนเสียชีวิตที่บันไดภายในบ้านพัก เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งจากการตรวจสอบร่องรอยบาดแผลภายนอก ไม่พบร่องรอยบาดแผลอื่น นอกจากรอยช้ำรอบลำคอ
เบื้องต้นทราบว่านายศุภกาญจน์มีอาการป่วยเป็น "โรคไบโพลาร์" ต้องรับประทานยาอยู่เป็นประจำ โดยหลังจากนี้จะนำร่างไปชันสูตรที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามขั้นตอน ก่อนจะให้ญาติมารับร่างกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
โรคไบโพลาร์คืออะไร
“โรคไบโพลาร์” (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ว่าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania)
โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
จากการสำรวจผู้ป่วย “โรคไบโพลาร์” ในประชากรทั่วไป พบได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 ซึ่งอัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี นอกจากนี้ “โรคไบโพลาร์” ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90%
ระยะของอาการไบโพลาร์
ข้อมูลจากโรงพยาบาลเปาโลระบุว่า “ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์” มักจะไม่รู้ตัวเองในช่วงที่เป็น เพราะอาการของมี 2 ระยะ คือ
- ระยะพุ่งพล่านหรือเรียกว่า “มาเนีย” (Manic Episode) มีอาการคิดเร็ว ทำเร็ว มั่นใจในตัวเอง นอนน้อย เพราะอยากออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อารมณ์พุ่งพล่าน ใช้เงินเยอะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเข้าใจว่าเป็นแค่นิสัย “ไฮเปอร์” ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และอาจเป็นแบบนี้อยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
- เข้าสู่ระยะซึมเศร้า (Depressive Episode) ผู้ป่วยจะมีอาการตรงข้ามกับระยะมาเนีย คือท้อแท้เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง อ่อนเพลีย อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง และอาจเป็นอาการซึมเศร้าอยู่นานติดต่อกันเป็นเดือน แล้วจึงกลับไปคึกคักเหมือนระยะมาเนียอีกครั้ง
วิธีการสังเกตอาการไบโพลาร์
"อาการโรคไบโพลาร์" นั้นผู้ป่วยอาจจะไม่ทันได้สังเกตตัวเองเนื่องจากอาจจะรู้สึกว่าตัวเองยังใช้ชีวิตตามปกติอยู่ ดังนั้นหากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเร็วมากเท่าไรก็สามารถได้รับการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก สสส. ได้ระบุว่าอาการที่ใช้สังเกตผู้ป่วย “โรคไบโพลาร์” มีดังนี้
- มีปัญหาในการทำงานให้สำเร็จ ผู้ป่วย "โรคไบโพลาร์" จะไม่มีปัญหาในการเริ่มต้นทำงานต่าง ๆ แต่เมื่ออารมณ์ของผู้ป่วยเริ่มเปลี่ยนแปลง การทำงานให้สำเร็จลุล่วงจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
- มีอาการต่างๆของโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนของ “โรคไบโพลาร์” ผู้ป่วยจะมีอาการลักษณะเดียวกับคนที่กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เช่น ความอยากอาหารลดลง มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
- พูดเร็ว การพูดเร็วขึ้นเป็นสัญญาณหนึ่งของ “โรคไบไพลาร์” จะพูดแทรกคนอื่นและไม่สนใจบทสนทนาของคนรอบข้างมักเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอยู่บ่อย ๆ
- หงุดหงิดง่าย ในบางกรณี คนที่เป็น “โรคไบโพลาร์” อาจจะมีอาการฟุ้งพล่านและภาวะซึมเศร้าพร้อม ๆ กัน
- ใช้ยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยคลายอาการซึมเศร้าระหว่างที่อยู่ในช่วง ซึมเศร้า
- อารมณ์ดีมากเกินไป (ไฮเปอร์)
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ ไม่คิดหน้าคิดหลัง
วิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไบโพลาร์
- พบจิตแพทย์ เพื่อเข้ากระบวนการบำบัดใจ จะได้รับยาและกระบวนการบำบัดตามการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น จิตบำบัดชนิดต่าง ๆ
- ผู้ป่วย "โรคไบโพลาร์" ต้องการความเข้าใจและกำลังใจจากครอบครัวและสังคม
- รักษาให้หายได้เมื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม ทำงานได้