นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

การเปิดเสรีกัญชา แม้จะเน้นว่าใช้ทางการแพทย์ แต่ในความเป็นจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้น คณะแพทยศาสตร์จึงได้เตือนให้ทุกโรงพยาบาลเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากใช้กัญชาเพื่อใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงอันตราย

ไทยเป็นอีกประเทศที่เปิด เสรีกัญชา ผู้เชี่ยวชาญเตือน อย่าใช้การสูบ เพราะทำลายปอด หลอดลม และก่อมะเร็งได้

แนะเตรียมความพร้อมแนวทาง ยารักษาการติดกัญชา และจับตาผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลจากการใช้กัญชา

 

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัย และนักวิชาการการเสพติด ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายทางการเมือง และกระทรวงสาธารณสุขผลักดันเรื่องการใช้กัญชา

นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

“โดยเน้นใช้ทางการแพทย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เน้นใช้เพื่อสันทนาการ แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีความย้อนแย้ง เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีโรคที่อนุญาตให้ใช้ 6-7 โรค

ที่น่ากังวลคือ การนำเอาไปใช้ สันทนาการ แล้วอ้างว่าใช้เพราะเจ็บป่วย ถือว่าอันตรายมาก รวมถึงการได้รับสารในกัญชาโดยไม่รู้ถึงปริมาณจากการรับประทาน ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล

จึงได้หารือกับโรงเรียนแพทย์ และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ให้เก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาทุกราย และได้ประสานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงอันตรายจากกัญชา

หากมีปัญหาเกิดขึ้นแต่ไม่รายงานจะกลายเป็นความชอบธรรมให้ร่างพ.ร.บ.กัญชา และกฎหมายที่ออกมาจะเบามาก โดยอ้างว่าขนาดเสรีแล้ว ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร  

นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

  • กัญชารักษาแค่อาการ ไม่ใช้ต้นเหตุของโรค

ในเรื่องของการใช้กัญชาทางการแพทย์และผลกระทบ ศ.นพ.สิริชัย ชัยสิริโสภณ Neurologist and researcher for medical cannabis, California USA กล่าวว่า ในกัญชามีสารสำคัญจำนวนมาก

“ที่สำคัญคือ THC มีฤทธิ์เสพติด ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ CBD ไม่มีฤทธิ์เสพติด แต่สารนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของกัญชา ขอย้ำว่ากัญชาไม่ได้รักษาทุกโรค ที่รักษาอยู่ตอนนี้เป็นเพียงรักษาอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค

เมื่อหยุด อาการก็กลับมาอีก หากเป็นอาการเรื้อรัง การใช้ก็ต้องรู้ปริมาณ THC เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ เลื่อนลอย มึนเมา ท้องเสีย อาเจียน ความคิดเชื่องช้า ความจำเสื่อม

ถ้าได้รับปริมาณสูงจะทำให้ประสาทหลอน หากคนไม่เคยใช้มาก่อน สารนี้อยู่ในร่างกายนาน 56 ชั่วโมง ส่วนคนที่เคยใช้มานาน สารนี้จะอยู่ได้ 128 ชั่วโมง จึงต้องระวัง และควรปรึกษาแพทย์

มีรายงานการสูบกัญชานาน ๆ มีผลเสียต่อปอดรุนแรงกว่าการสูบบุหรี่ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลม ปอด

ที่สำคัญคือ มะเร็งปอด มีปัญหาทางสมอง ไอคิวต่ำ เนื้อสมองฝ่อ สติปัญญาเสื่อม เฉื่อยชา ตัดสินใจผิดพลาด จิตหลอน และเป็น โรคจิต ได้ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการสูบ

นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

  • ไม่ส่งเสริมให้ใช้เพื่อสันทนาการ

การใช้กัญชาในประเทศไทย การเตรียมรับผลกระทบและแนวทางการป้องกัน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายใหม่เกี่ยวกับยาเสพติด

“มองผู้เสพเป็นผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ส่วนผู้ค้ายังคงรับโทษทางกฎหมาย ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการแก้กฎหมายหลายฉบับ มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ การอนุญาตให้ใช้ใบประกอบอาหารได้

จึงมีผู้ใช้กัญชามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงการปลดกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดผิดกฎหมาย ถือเป็นชาติแรกในเอเชียที่เปิดให้มีการใช้อย่างเสรี และค่อนข้างเสรีที่สุดในโลก

แม้จะ ไม่ส่งเสริมให้ใช้สันทนาการ แต่การใช้สันทนาการก็ไม่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ส่วนที่จะควบคุมเป็นเรื่องการสูบสร้างความรำคาญ การสูบแล้วขับขี่ยานพาหนะ และอาจมีการห้ามโฆษณาออกมา

บทเรียนในต่างประเทศที่มีการใช้กัญชาเสรี ใช้สันทนาการ เช่น แคนาดา, อุรุกวัย โดยหวังแก้ปัญหากัญชาใต้ดิน กลับพบว่ามีคนใช้กัญชามากขึ้น คนป่วยเข้าห้องฉุกเฉินที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น

ในประเทศไทยจึงต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ให้ความรู้การใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ระวังไม่ให้ใช้ในเด็ก เพราะมีผลกระทบต่อพัฒนาการ สมอง จิตใจ ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย

ต้องเตรียมรูปแบบการรักษาการเสพติดกัญชาให้พร้อม เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาแม้จะเป็นการใช้เพื่อรักษาโรค แต่พบว่าผู้ป่วยไม่ได้ซื้อน้ำมันกัญชาจากแหล่งที่ปลอดภัย แต่ซื้อทางออนไลน์ หรือแหล่งที่หาซื้อพิเศษ

นพ.ฉันชาย เตือน รพ.เก็บข้อมูลผู้ป่วยกัญชา เฝ้าระวังการใช้ใน รร.

  • ในทางการแพทย์ “กัญชา” คือสมุนไพร

การส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย พญ.ปัจฉิมา หลอมประโคน รองผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 เรื่องสมุนไพรกัญชา กัญชง แบ่งเป็น 2 ระยะ

“ระยะแรกให้เข้าถึงอย่างปลอดภัย ระยะที่สองคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในส่วนของการใช้ทางการแพทย์ กรมการแพทย์กำหนดการใช้กัญชารักษาโรคเป็นกลุ่ม ดังนี้

1. คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด

2.โรคลมชักรักษายาก ดื้อต่อยารักษา

3.กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

4. ปวดประสาท

5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ ที่มีน้ำหนักตัวน้อย

6.เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะประคับประคอง หรือระยะสุดท้ายของชีวิต

ส่วนอีก 2 กลุ่ม คือ

1)กลุ่มโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ วิตกกังวลทั่วไป และปลอกประสาทอักเสบ

2)กลุ่มในอนาคต เช่น การรักษามะเร็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง ขอให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน อย่าใช้กัญชาเป็นทางเลือกแรก

ในปี 2565 มีการเปิดคลินิกกัญชาทั่วประเทศได้เกินเป้าหมาย 70% ผู้ป่วยทั้งหมดใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มถึง 73%