โควิด-19 คลี่คลาย - นโยบาย Dental Hub ดัน "ทันตกรรม" ไทยฟื้น
โควิด-19 ที่ดีขึ้น รวมถึงการที่มีนโยบาย Dental Hub ดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ธุรกิจด้าน "ทันตกรรม" มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะเดียวกันอุปกรณ์ทันตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญเปรียบเสมือนการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล เสริมให้ตลาดโตขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 “ทพ.พรศักดิ์ ตันตาปกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ D กล่าวภายหลัง ลงนามความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) กับ BenQ บริษัทชั้นนำจากไต้หวันเพื่อให้ D เป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ทันตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Digital Dentistry ในประเทศไทย จัดจำหน่ายภายใต้ บริษัทเดนทัลวิชั่น (ประเทศไทย) หรือ DVT ระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจทุกภาคส่วนทั้งในไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึง บริษัทฯ ก็รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
“เชื่อว่าเราเดินทางมาถึงจุดที่ความรุนแรงและความระบาดแนวโน้มลดลง จนน่าจะอยู่ในจุดที่โควิด-19 จะเข้าสู่ โรคประจำถิ่น ในอนาคตอันใกล้ ประชาชนสามารถกลับมาสู่ชีวิตปกติ ภาครัฐได้ประกาศนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ยกระดับเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านทันตกรรม (Dental Hub) อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดวางแนวทางให้นำบริการทันตกรรมที่มีศักยภาพสูงของไทยมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว นำร่อง คลินิกทันตกรรม จ.ภูเก็ต ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจรับบริการด้าน ทันตกรรม มารับบริการจาก Dental Hub ของไทยได้”
ก่อนโควิด-19 ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามารับบริการด้านทันตกรรมในประเทศไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง และการผลักดัน Dental Hub จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมารับบริการ ได้แก่ รากฟันเทียม ครอบฟัน วีเนียร์ เฉลี่ยค่าบริการต่อรายประมาณ 2 – 3 แสนบาท โดยรายได้ของบริษัทฯ ในเดือน พ.ค.65 เติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 65 ถึง 72%
ทพ.พรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า รายได้ของบริษัทฯ ช่วงก่อนโควิด-19 กว่า 60% มาจากคนไข้ต่างชาติ แต่การใช้จ่ายแต่ละคนจำนวนมาก นับเป็นรายได้หลัก ขณะที่ช่วงโควิด-19 รายได้ในส่วนนี้ซึ่งปกติจะอยู่ที่ราว 400 ล้านบาทหายไป เหลือเพียง 50 ล้านบาท แต่คนไข้ชาวไทยกลับเติบโตขึ้นจาก 300 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 360 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้ ไตรมาส 1 เริ่มมีการเปิดประเทศ ทำให้คนไข้ต่างชาติกลับมาราว 30-40% จากช่วงก่อนโควิด และคนไข้ชาวไทยเติบโตขึ้น
ขณะที่ไตรมาส 2 คนไข้ต่างชาติกลับมาราว 50% และคนไข้ชาวไทยยังคงโตต่อเนื่อง 5-10% ไตรมาส 3 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ สัดส่วนคนไข้ต่างชาติน่าจะอยู่ที่ 70% และหวังว่าไตรมาส 4 จะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ปีนี้คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 750 – 800 ล้านบาท กำไรประมาณ 5% หรือราว 35-40 ล้านบาท
เปลี่ยนผ่านทันตกรรมสู่ดิจิทัล
ทั้งนี้ บริษัท เดนทัลวิชั่น (ประเทศไทย) หรือ DVT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ D เป็นบริษัทจัดจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ทันตกรรม ที่มีลูกค้าเป็นคลินิกทันตกรรมกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานราชการ คณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน จากที่ได้ลงนาม MOU กับ BenQ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาด้านทันตกรรม ให้ก้าวไปสู่โลกดิจิทัล ทันตกรรม หรือ Digital Dentistry เป็นการสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของ D ที่จะยกระดับมาตรฐานบริการทันตกรรมของกลุ่มบริษัทให้ก้าวเข้าสู่โลก Digital Dentistry อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
โดยนำเข้า เครื่องสแกนภายในช่องปากแบบสามมิติ คุณภาพสูง สามารถสแกนภาพเป็นสีและโลหะได้ภาพคมชัด เหมาะกับเทรนด์ Dental Digital Solution ลดการใช้วัสดุพิมพ์ปาก และปูนโมเดล เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ที่รับการรักษาได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ทันตแพทย์ในการบันทึกการพิมพ์ปากของคนไข้แทนการพิมพ์ปากแบบซิลิโคน นำไปเปิดตัวในงาน TDA (Thailand Dental Association) จัดโดย สมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากทันตแพทย์ผู้มาร่วมงาน
ปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนทันตแพทย์ 20,000 คน มีคลินิกทันตกรรม 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีการผลิตทันตแพทย์ใหม่เกือบ 1,000 คนต่อปี ที่ผ่านมา พบว่าอุปกรณ์ทันตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในไทยและเป็นเทรนด์สำคัญสำหรับธุรกิจทันตกรรมในอนาคตอันใกล้
“ทพ.พรศักดิ์” อธิบายว่า การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อก เป็นดิจิทัล “เครื่องสแกนภายในช่องปากแบบสามมิติ” จากเดิมเป็นฟิล์มเอกซเรย์ หรือเวลาพิมพ์ฟันต้องใช้ซิลิโคน ตอนนี้สามารถถ่ายภาพและออกเป็นสามมิติ และสามารถดีไซน์ได้ ลดขั้นตอน ระยะเวลา จำนวนคนทำงาน และถือเป็นการลดต้นทุนด้านบริการทันตกรรมอีกด้วย
“การได้เป็นพันธมิตรกับ BenQ ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาด้านทันตกรรม ให้ก้าวไปสู่โลกดิจิทัล สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของ D ที่จะยกระดับมาตรฐานบริการทันตกรรมของกลุ่มบริษัทให้ก้าวเข้าสู่โลก Digital Dentistry อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตรวมทั้งการเพิ่มยอดขายอุปกรณ์ทันตกรรมของบริษัท ตั้งเป้ายอดขาย เครื่องสแกนภายในช่องปากสามมิติไว้ที่ 50 เครื่อง หรือราว 25 ล้านบาทในปีนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากขายอุปกรณ์ทันตกรรมอยู่ที่ 40% และตั้งเป้าหมายเติบโตปีนี้ไม่ต่ำกว่า 30%” ทพ.พรศักดิ์ กล่าว