"แอสตร้าเซนเนก้า" เผยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพคนไทย
"แอสตร้าเซนเนก้า" เผย การนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาดูแลสุขภาพของประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) อย่างยั่งยืน จาก วัคซีนโควิด-19 สู่นวัตกรรม แอนติบอดีสำเร็จรูป Long Acting Antibody (LAAB) สำหรับ ผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 65 เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ แอสตร้าเซนเนก้า ดำเนินงานในประเทศไทย มุ่งมั่นนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ การยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น การส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และการพัฒนายานวัตกรรมให้กับผู้ป่วย ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน
"โดยการเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการขยายขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) ที่เราอาศัยอยู่มากยิ่งขึ้น”
ประชาชน (People)
แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เพียงแต่จะคิดค้นยาในการรักษาโรคภัย แต่บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคผ่านช่องทางและแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันและรักษาปัญหาสุขภาพหัวใจให้แก่ประชาชน อาทิ โครงการ Hug Your Heart โครงการ คุยเรื่องไต ไขความจริง ให้ความรู้และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคไตสำหรับประชาชน
นวัตกรรม AI ตรวจโรคมะเร็งปอด
ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ นำร่องด้วย โครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” ที่นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหา โรคมะเร็งปอด ในระยะเริ่มต้น และ โครงการ SEARCH โครงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง (CKD) ใน ผู้ป่วยเบาหวานและ ผู้ป่วยความดันโลหิต สูงด้วยการตรวจหาระดับอัลบูมินในปัสสาวะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณภาพการบริการ การป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไต และยืดระยะเวลาการบำบัดทดแทนไต
หนุนการเข้าถึงยา
อีกทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า ยังจัดตั้งโครงการสนับสนุนการเข้าถึงยา (Patient Affordability Programme) หรือ รู้จักกัน ในนาม AZ PAP (AstraZeneca Patient Affordability Programme) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยา นวัตกรรม หลายรายการ ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย เป็นต้น
ชุมชน (Society)
แอสตร้าเซนเนก้า เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งยังเป็นประตูที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตแก่องค์กรในประเทศ
รวมถึงยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น อาทิ โครงการ Healthy Lung ที่มีดำเนินงานร่วมหลายๆพื้นที่ ของเขตการบริการสุขภาพ เพื่อสนับสนุนให้ บุคลากรการแพทย์ได้มีการเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการดูแลรักษาโรคหืด
หนุนการตรวจวินิจฉัยโรคหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
อีกทั้ง โครงการฯ สนับสนุน และจัดหา เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้กับหน่วยบริการการแพทย์ที่ความต้องการอีกด้วย รวมถึงโครงการ Young Health Programme ที่ปลูกฝังองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่เยาวชนอายุ 10-24 ปี ให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) และปัญหาสุขภาพ โดยการสร้างแกนนำเยาวชนเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
โลก (Planet)
นอกจากการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาเพื่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยแล้ว "แอสตร้าเซนเนก้า" ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้แอสตร้าเซนเนก้า ได้จัดทำโครงการ AZ Forest โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในแต่ละพื้นที่
เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการปลูกและดูแลต้นไม้เป็นจำนวนกว่า 50 ล้านต้นทั่วโลก ภายในปี 2025 พร้อมกันนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังให้คำมั่นด้วย Ambition Zero Carbon ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนหลักของบริษัทในการผลักดันบริษัทสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2025 แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทในการมุ่งดูแลสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
วัคซีนโควิด-19 สู่ LAAB
เจมส์ ทีก กล่าวต่อไปว่า ด้วยความมุ่งมั่นของแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม จึงมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึง กระทรวงสาธารณสุขของไทย เอสซีจี และ สยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนให้ทันเวลา ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถือเป็นความสำเร็จในระยะแรก รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน
ล่าสุด มีนวัตกรรม แอนติบอดีสำเร็จรูป แบบ Long Acting Antibody (LAAB) สำหรับ ผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่สามารถตอบสนองวัคซีนได้อย่างปกติ ดังนั้น การได้ LAAB เหมือนได้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเข้าสู่ร่างกาย
LAAB จำนวน 257,500 โดส
สำหรับ แผนการบริหารจัดการ "วัคซีนโควิด-19" ของกระทรวงสาธารณสุขที่รอรับมอบ ในปี 2565 ในส่วนของ วัคซีน "AstraZeneca" ดังนี้
- ปรับลดการจัดซื้อวัคซีน AZ จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5160 ล้านบาท
- เป็นการจัดซื้อวัคซีน AZ จำนวน 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท
- เปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท
- รับมอบวัคซีน AstraZeneca ไปแล้ว 8.3 ล้านโดส เหลือการรับมอบวัคซีน AstraZeneca 27.1 ล้านโดส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส่อง แผน "วัคซีนโควิด-19" ปี 65 เตรียมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic
ผู้ป่วยที่สามารถรับ LAAB
ทั้งนี้ จากการประชุม ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ UHosnet เกี่ยวกับแนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประเทศไทย มีดังนี้
ข้อมูลทั่วไป
- ใช้ได้ ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปี และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป
- 1 กล่องบรรจุภัณฑ์ของ LAAB (Evusheld) ประกอบไปด้วย 2 vials ได้แก่
- Tixagevimab (150 mg) 1.5 ml
- Cilgavimab (150 mg) 1.5 ml
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1.5 ml
- ข้อบ่งชี้สำหรับการใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด 19 (pre-exposure prophylaxis)
- ผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือ ไม่ได้เป็นผู้เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด 19 และ
- เป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคนโควิด 19 หรือ ไม่สามารถฉีดวัคนโควิด 19 ได้ด้วยความจำเป็นบางประการ (แพ้วัคซีน หรือ ส่วนประกอบของวัคซีน)
ข้อมูลจาก แอสตร้าเซนเนก้า อธิบายว่า ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) ภายใต้ชื่อ Evusheld (ชื่อเดิม AZD7442) เป็นยาแอนติบอดีชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19
ข้อมูลจากการศึกษาระยะที่ 3 แสดงให้เห็นว่า Evusheld หนึ่งโดส สามารถให้การป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยาวนานในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก "LAAB" ภูมิคุ้มกันสำเร็จ สำหรับ "กลุ่มเสี่ยง" โควิด ภูมิฯ ต่ำ