20 ปี ค้นคว้า "มณีแดง" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ "สังคมสูงวัย"

20 ปี ค้นคว้า "มณีแดง" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ "สังคมสูงวัย"

"โมเลกุลมณีแดง" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา ซึ่งใช้เวลาค้นคว้ากว่า 20 ปี ของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ล่าสุด จับมือ ปตท. และ อินโนบิก รวมถึงเครือข่ายวิจัย เตรียมพร้อม "ทดสอบในมนุษย์" และเตรียมกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม

การก้าวสู่ สังคมผู้สูงอายุ สมบูรณ์ มีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 20% และ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 14% และเป้าหมายในการพัฒนา อุตสาหกรรมการแพทย์ ของไทย ทำให้เราได้เห็นผลงานนักวิจัยไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง โควิด-19 ที่มีการพัฒนาวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงยา และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการนำเข้า

 

ขณะเดียวกัน “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” (Medical Hub) นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ของภาครัฐที่มีแผนสนับสนุนการการลงทุน เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยจะเป็นหัวใจหลักของกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เพิ่มรายได้ให้กับประชากร

 

ล่าสุด วานนี้ (12 ก.ค. 65) ภายในงานแถลงข่าว พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พัฒนางานวิจัย ‘โมเลกุลมณีแดง’ นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา เตรียมพร้อมทดสอบในมนุษย์ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และ ภาคเอกชนอย่าง ปตท. ผลักดันผลงานของนักวิจัยไทย ที่ไม่เพียงแค่การตอบโจทย์สังคมสูงวัยเท่านั้น ยังถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย และตอบโจทย์เป้าหมาย New S-Curve ในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์

 

20 ปี ค้นคว้า \"มณีแดง\" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ \"สังคมสูงวัย\"

20 ปีค้นคว้า โมเลกุลมณีแดง

 

จากการค้นคว้าวิจัยมากว่า 20 ปี ของ “ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร” อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษา “มณีแดง” ซึ่งเป็นชีววัตถุ นวัตกรรมต้านเซลล์ชราที่เกิดจากการค้นพบทฤษฎีของความชราในระดับโมเลกุล ที่ให้คำตอบได้ว่าความชราของเซลล์เริ่มต้นอย่างไร องค์ ความรู้นี้ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีต้านเซลล์ชราที่มีประสิทธิภาพสูง

 

“ผลงานวิจัยมณีแดงนี้เป็นงานวิจัยต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยมีนักวิจัยคนไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรชีวเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย รวมทั้ง จากคณะทันตแพทยศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาเคมี และศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ของคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้ง ความร่วมกับนักวิจัยไทยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น”

 

ปัจจุบัน การวิจัยพัฒนา มณีแดง ผ่านการทดสอบในหนู และหมูทดลอง โดยฉีดเข้าช่องท้อง และอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในลิงแสม 12 ตัว วัยใกล้หมดประจำเดือน โดยฉีด 3 เข็มเข้าเส้นเลือดดำ ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ขณะเดียวกัน การทดสอบในมนุษย์ ต้องผ่านการผลิตยาโดยความร่วมมือจากคณะเภสัชศาสตร์ก่อน และดูความปลอดภัยในลิงแสม 6 เดือน คาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะสามารถ ทดสอบในมนุษย์ ได้ในอีกประมาณ 8 เดือนหลังจากนี้”

 

20 ปี ค้นคว้า \"มณีแดง\" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ \"สังคมสูงวัย\"

ตามแผนงานของการวิจัยมณีแดง คือ ต้องการนำมาใช้กับมนุษย์ได้ การผลิตจะต้องทำด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้มณีแดงมีคุณภาพที่สามารถผ่านการทดสอบได้ตามมาตรฐาน เหตุนี้ทีมวิจัยจึงได้ร่วมมือกับทีมวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซี่งจะเป็นผู้รับผิดชอบ ออกแบบกระบวนการ และดำเนินการผลิต เนื่องจากมีความรู้ รวมถึงทักษะและประสบการณ์ในการผลิตยาสูง

 

ขั้นตอนผลิตมณีแดงเป็นยานั้น จะต้องดำเนินการที่โรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตยาให้เพียงพอในการนำไปศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ โดยบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และแพทย์ผู้ร่วมวิจัยในหลายสถาบัน

 

ร่วมเอกชน ดันงานวิจัยสู่ตลาด

 

สำหรับ ในด้านการลงทุน การผลิต และจัดจำหน่าย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เบื้องต้นงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย และจะสามารถทำให้คนไทยเข้าถึงมณีแดงได้ หากได้รับการรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นยารักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพแล้ว

 

นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อต่อยอดความรู้และการนำมณีแดงไปใช้ รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางการแพทย์ และนวัตกรรม เพื่อการนำไปใช้ดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม “ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวถึง โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสูงวัย ถือเป็นโอกาสสำคัญ และการค้นพบโมเลกุลมณีแดง ที่เป็นความลับทางแพทย์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งวิจัยทางคลินิก สัตว์ขนาดเล็ก สัตว์ขนาดใหญ่ และคน

 

“อินโนบิก มีทั้งการแทพย์ เทคโนโลยี โภชนเภสัช แต่ความสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสู้กับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ คือ งานวิจัยที่ออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยบริษัทฯ จะสนับสนุนนักวิจัยเข้าร่วมโครงการ และทีมงานบริหารโครงการ ไม่ว่าจะเป็นไอที ทำการตลาด และมองหาโอกาสทางธุรกิจ มาร่วมกันทำ รวมถึงการอัพสเกลผ่านเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นโอกาสของไทย ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ทั้งในภูมิภาคและในโลก

 

20 ปี ค้นคว้า \"มณีแดง\" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ \"สังคมสูงวัย\"

 

ตอบโจทย์ New S-Curve

 

ด้าน อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตมาของประเทศไทยเริ่มไม่ทันสมัย เราจะได้ยินคำว่า New S-Curve นั่นคือ ตัวสะท้อนความเป็นห่วงที่ว่า ประเทศไทยหากไปด้วยรูปแบบเศรษฐกิจเดิมๆ ไม่ได้ ต้องมีการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศในรูปแบบใหม่ๆ คือ New S-Curve ซึ่งหนึ่งในเป้าหมาย New S-Curve ของประเทศ คือ Medical Hub ไม่ใช่แค่การเซอร์วิส แต่ต้องมีนวัตกรรมที่โลกต้องมีในประเทศไทย

 

“ปตท. ต้องปรับตัว จากธุรกิจพลังงาน โดยออกวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ Powering Life with Future Energy and Beyond ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ดังนั้น นอกจากธุรกิจพลังงานแล้ว จะมีการมุ่งไปยังธุรกิจที่สร้าง New S-Curve ให้กับประเทศ เป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่จะมาดูแลทั้งในเรื่องของยา เครื่องมือการแพทย์ ฯลฯ และการเข้ามาร่วมสนับสนุนการวิจัย พัฒนา “มณีแดง” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่น่ายกย่อง และควรสนับสนุนต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม”

 

“เราต้องการผลักดันให้ไทยก้าวไปอีกขั้นของ New S-Curve และ มณีแดงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างชื่อเสียงของประเทศ หากผลลัพธ์ออกมาในแบบที่คาดหวัง น่าจะเป็นแรงผลักดัน ขับเคลื่อนให้การแพทย์ไทย ก้าวไปอีกขั้น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ ไม่ใช่แค่มณีแดง แต่งานวิจัยอื่นๆ จะได้รับความสนใจในการช่วยยกระดับ สร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศได้” อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย

 

20 ปี ค้นคว้า \"มณีแดง\" นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา รับ \"สังคมสูงวัย\"