"พลัดตกหกล้ม" ในผู้สูงวัย เรื่องใหญ่ ที่ต้องตระหนัก
เมื่อประเทศไทยก้าวสู่ "สังคมสูงวัย" เด็กเกิดน้อยลง สวนทางกับอัตราการตาย สิ่งที่ตามมาคือ ประเด็นด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการ "หกล้ม" ในสูงวัย ที่ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกายภาพ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว
วานนี้ (8 ก.ค. 65) “นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์” ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวในประเด็นการป้องกันการ “หกล้ม” ใน ผู้สูงอายุ ภายในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 โดยระบุว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยเป็น สังคมผู้สูงอายุ สมบูรณ์แบบ มีอายุเกิน 60 ปี 20% และเกิน 65 ปี คิดเป็น 14% และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2574 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เหมือนในประเทศญี่ปุ่น คือ อายุมากกว่า 60 ปี 28% และอายุเกิน 65 ปี 20%
ไทยอัตราเกิด น้อยกว่าตาย
สถานการณ์ประเทศไทย พบว่า อัตราการเกิดลดลง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13,559,018 คน ข้อมูลในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 พบว่า
- ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20.47%
- และอายุ 65 ปีขึ้นไป 13.70%
- คาดว่าในปี 2583 ประชากรไทย จะมีจาก 66 ล้านคน เหลือ 65 ล้านคน เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย
- ที่สำคัญ ตอนนี้มีผู้ติดบ้านติดเตียงกว่า 3 แสนคน
ความท้าทายในวัยสูงอายุ
การดูแล
- ครอบครัวเล็กลง
- อยู่คนเดียว/คู่สมรส
- ขาดผู้ดูแล
ที่พักอาศัย
- บ้านไม่ปลอดภัย
- บริการสาธารณสุข
- สภาพแวดล้อม
สุขภาพกาย/จิต
- มีโรคประจำตัว
- เจ็บป่วยเรื้อรัง
- เหงา ซึมเศร้า
เศรษฐกิจ
- ขาดรายได้
- รายได้ลดลงไม่เพียงพอ
- ยากจน
สมองเสื่อม อีกหนึ่งประเด็นน่าห่วง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าห่วง คือ สมองเสื่อม พบว่า
- ปี 2559 มีจำนวน 617,000 คน
- ปี 2580 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,350,000 คน
- ประชากรอายุ 60-69 ปี พบ 1-2%
- อายุ 70-79 ปี พบ 8%
- อายุมากกว่า 85 ปี พบ 50%
- การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 คน ใช้ผู้ดูแลอย่างน้อย 2 คน
สถานการณ์การหกล้ม
- 20% ความชุกหกล้มในชุมชน
- 50% ผู้สูงอายุที่รับการรักษาจากหกล้ม ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตใน 1 ปี
- การหกล้มเป็นสาเหตุหลักของกระดูกสะโพกหักและภาวะติดบ้าน ติดเตียง
"ดังนั้น การสร้างระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มความตระหนักรู้ ความเข้าใจ เตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกัน รวมถึงการพัฒนาระบบการจัดการสุขภาพผู้สูงอายุ เชื่อโยงแบบไร้รอยต่อ จากสถานบริการสู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริม และป้องกันโรค เพื่อความรอบรู้สุขภาพ โดยเฉพาะเรื่อง วัคซีนป้องกันโรค และการจัดการดูแลรักษาให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการ ได้อย่างรวดเร็ว และเหมาะสม คลินิกผู้สูงอายุ การดูแลระยะยาว ระยะกลาง จนถึการดูแลระยะท้าย" นพ.อัครฐาน กล่าว
ผลที่เกิดจากการหกล้ม
"นพ.ปริย วิมลวัตรเวที" คณะกรรมการและคณะทำงาน การป้องกันและประเมินภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเลิดสิน เผยผลที่เกิดจากการล้ม ดังนี้
- 64% มีกระดูกหักอย่างน้อย 1 จุด
- 44% เกิดความกลัวในการล้ม ไม่กล้าใช้ชีวิตนอกบ้าน
- 32% ต้องนอนโรงพยาบาล
- 32% ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน
ที่น่ากลัว คือ อัตราเสียชีวิตจากการล้ม ที่ผ่านมาพบว่าในประเทศไทย เพิ่มสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ยิ่งอายุเยอะ อัตราการเสียชีวิตก็จะยิ่งสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี
ปัจจัยเสี่ยงต่อการล้ม
ด้านสิ่งแวดล้อม
- แสงสว่าง
- ของวางเกะกะ
- พื้นต่างระดับ/ลื่น
- การออกแบบ
ด้านพฤติกรรม
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การขาดการออกกำลังกาย
- รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
ด้านกายภาพ
- กำลังกล้ามเนื้อ
- การรับความรู้สึก (ชา)
- การรู้สึกตัว
- อายุ
- การมองเห็น
- โรคร่วม (พาร์กินสัน , ข้อเสื่อม, ภาวะขาดวิตามินดีพร่อง)
- การใช้ยา
ด้านสังคม
- ไม่สามารถเข้าถึงการสาธารณสุข
แนวทางการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
- ประเมินความเสี่ยงการล้ม
- ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความมั่นคงในการยืน การเดินและการทรงตัว
- ความรู้เกี่ยวกับภาวะหกล้ม
- การจัดการสิ่งแวดล้อม
- การเสริมวิตามินดี
- การดูแล/ทบทวนเรื่องยา
- การดูแลโรคร่วม
- การดูแล/ตรวจตา (ปีละครั้ง)
- การใช้เทคโนโลยีช่วยป้องกันภาวะหกล้ม
การออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง : ฝึกที่มีการใช้แรงต้าน การถ่วงน้ำหนัก การใช้ยางยืด การใช้ถุงทรายถ่วงน้ำหนัก
- การออกำลังกายที่ฝึกการเคลื่อนไหว : การออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวร่างกายแบบคงที่ ใน 3 ระนาบ คือ หน้าหลัง , ซ้ายขวา , ขึ้นลง เป็นการเคลื่อนไหวแบบพลวัต มีจังหวะและแบบแผนการเคลื่อนไหว เช่น ไทเก็ก เต้นรำ ชี่กง
- การฝึกเดินและการทรงตัว ได้แก่ การฝึกระบบการทรงตัวของร่างกาย การฝึกการเดินที่ถูกต้อง ความเร็วและทิศทางเหมาะสมเวลาก้าวเดิน เช่น ยืนด้วยส้นเท้า ยืนด้วยปลายเท้า การเดินด้วยปลายเท้า เดินด้วยส้นเท้า เดินต่อเท้า เป็นต้น
- กิจกรรมทางกาย เพิ่มความแข็งแรงและลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหกล้มได้ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ทำสวน
- การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น โดยเฉพาะการเหยียด บิด เป็นการฝึกและคงไว้ซึ่งพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ
- ต้องมีการประเมินความสามารถก่อนเพื่อเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล
ตัวอย่าง : วิธีการออกกำลังเพื่อป้องกันการหกล้ม
การเลือก รองเท้า
รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันภาวะหกล้ม ได้แก่
- รองเท้าส้นเตี้ยและมีดอกยาง เพื่อให้พื้นรองเท้ายึดเกาะกับพื้นได้ดี ป้องกันการลื่นล้ม
- รองเท้าควรเป็นแบบหุ้มส้น โดยส่วนที่หุ้มส้นมีความแข็งพอควร เพื่อพยุงข้อเท้าทำให้ผู้สูงอายุสามารถทรงตัวได้ดีขึ้น
- รองเท้าหน้ากว้าง
- แนะนำให้ผู้สูงอายุเปลีย่นรองเท้าทันทีเมื่อพื้นรองเท้าเสื่อมสภาพในการเกาะพื้น
การใช้ยา
- การใช้ยาร่วมกันหลายชนิด ตั้งแต่ 5 ชนิดขึ้นไป
- กลุ่มที่มีภาวะโรคเรื้อรังและกลุ่มอาการสูงอายุ
- เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะหกล้ม 1.75 เท่า
- จำนวนชนิดของยาที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มอัตราการเกิดภาวะหกล้มมากขึ้น
- ยาที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงการเกิดภาวะหกล้มสูง ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เพิ่มอัตราการเกิดภาวะหกล้มมากขึ้น
นพ.ปริย อธิบายว่า การใช้ยาร่วมกันหลายชนิด ตั้งแต่ 5 ชนิดขึ้นไป เช่น ยาที่กินแล้วมีความง่วง อาทิ ยาแก้แพ้บางชนิด หากกิน 2 ชนิดขึ้นไป ก็ทำให้เสี่ยงต่อการล้ม จุดสำคัญ คือ ดูความจำเป็น ยาบางอย่างถ้าจำเป็นก็ต้องกิน แต่หากมากกว่าหลายชนิด กินแล้วต้องเพิ่มความระมัดระวัง ทบทวนเรื่องยาอันไหนไม่จำเป็นตัดออก
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มได้ยาเกิน 5 ตัว มักได้จากหลายแผนก หรือรักษาหลาย รพ. ทำให้ยามีความซับซ้อน แนะนำว่าในกรณีนี้เวลาไปพบแพทย์ให้นำยาไปด้วย หรือถ่ายรูปซองยาไว้ โดยปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนของ กรมการแพทย์ รพ.ราชวิถี เวลาสูงอายุไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นเบาหวาน ความดัน หรือเกี่ยวกับกระดูก จะได้ยาที่ความเสี่ยงสูงหลายกลุ่ม จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และป้องกันอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยากระดูกพรุนมานาน
คัดกรองการล้มที่หน่วยบริการ
"พญ.ชมพูนุช พงษ์อัครศิรา" หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแทพย์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในปี 2565 กรมการแพทย์ โดย สถาบันเวชศาสตร์ฯ ผู้สูงอายุ ได้จัดทำคู่มือการคัดกรองสำหรับ รพ. ระดับต่าง ๆ ขณะที่ภาคประชาชน หากรู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคงและอยากจะรับการประเมิน สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านได้เพื่อคัดกรอง
หรือหากรักษาอยู่ใน รพ. เมื่อถึงเวลาที่ติดตามอาการ สามารถแจ้งแพทย์ได้ว่าใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีภาวะล้มหรือมีความกังวลอย่างไร หรือรู้สึกว่าการทรงตัวไม่ดี หรืออยากจะได้ข้อมูลการปรับสภาพแวดล้อมที่บ้าน สามารถขอคำแนะนำได้ หรือดูรายละเอียดได้ที่ คลิก
นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น สูงวัย 5G ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และสามารถทำแบบประเมินสภาวะสุขภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คลิก