ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง
เมื่อก้าวเข้าสูงสังคมสูงวัย สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การหกล้มของ "ผู้สูงอายุ" ที่จะนำมาซึ่งปัญหาการติดบ้าน ติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้น การป้องกัน จึงดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
สถานการณ์ ผู้สูงอายุ ไทยในปี 2563 ประชากรไทยมีทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน หรือ 16.73% แบ่งเป็นชาย 6.2 ล้านคน หญิง 4.9 ล้านคน มีจำนวนผู้ที่ติดเตียงประมาณ 0.39% ติดบ้าน 1.54% และติดสังคม 98.06% และในปี 2564 ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมี ผู้สูงอายุ ราว 20%
ขณะเดียวกัน ภาวะพึ่งพิงเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวและทั้งประเทศ เมื่อไม่อาจช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกสูญเสียคุณค่าความมั่นใจในตัวเอง ผู้ทำหน้าที่ดูแลต้องเสียโอกาสในการหารายใด้ เกิดความเครียดสะสมในครอบครัว และบางกรณีอาจถึงขั้นกระทบกับฐานะทางการเงิน
ขณะที่ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล ทั้งผู้ดูแลที่ไม่สามารถสร้างผลิตภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ ตัวผู้สูงอายุเองที่สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์มาตลอดชีวิตก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ ส่วนภาครัฐเองก็มีภาระงบประมาณในการรักษาดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเหล่านี้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการป้องกันหรือชะลอให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงให้ช้าและน้อยที่สุด
“โครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้มสมองเสื่อม” โดยใช้ Self -Sustained Movement Program ซึ่งเป็นโปรแกรมจากญี่ปุ่น คิดค้นโดย Dr.MIEKO NAKANO ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัย ชิซูโอกะ ถูกนำมาใช้ฝึกทักษะการออกกำลังกายแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยทดสอบพื้นที่นำร่อง ปี 2560 อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี
ด้วยการสนับสนุนของ “JICA” (Japan International Cooperation Agency) หน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีความร่วมมือกับไทยในการทำงานยกระดับด้านสาธารณสุข และสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกจากฮิตาชิ จากการดำเนินโครงการและประมินผลแล้ว พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายในโครงการมีมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้องและกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงขึ้นและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เป็นภาระของลูกหลาน
ในปี 2564 ได้มีการขยายผลจากการสนับสนุนงบประมาณโดย สปสช. ให้ครบทั้ง 7 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 8 มีจำนวนผู้สูงอายุ 747,922 คน คิดเป็น 13.44% แบ่งเป็นกลุ่มติดสังคม 602,554 คน หรือ 80.56% เสี่ยงหกล้ม 17,206 คน หรือ 2.30% ข้อเข่าผิดปกติ 29,992 คน หรือ 49% และมีค่า BMI เกินจำนวน 175,104 คน หรือ 23.49%
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า แนวคิดการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้ Self-Sustained Movement Program เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับเขตและ Area base โดยคณะอนุกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี ได้จัดสรรงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับเขต (PPA) ปีงบประมาณ 2564 เพื่อจัดทำโครงการดังกล่าวจำนวน 2,492,520 บาท
โดยนำ Self-Sustained Movement Program มาใช้ฝึกทักษะการออกกำลังให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีคะแนนจากการคัดกรอง ADL (Activity Daily Living) 12- 20 จำนวน 2,265 ราย กระจายกลุ่มเป้าหมายใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี 500 คน จ.สกลนคร 500 คน จ.นครพนม 400 จ.เลย 300 คน จ.หนองคาย 200 คน จ.หนองบัวลำภู 215 คน และ จ.บึงกาฬ 150 คน
- 6 ขั้นตอน ฝึกกล้ามเนื้อ
สำหรับ กิจกรรมใน Self-Sustained Movement Program จะประกอบด้วย
1.ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต BMI มวลกล้ามเนื้อ แรงบีบมือ
2. ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย SSM test 4 ฐานคือความสามารถในการเดิน ความสามารถในการเคลื่อนไหว ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อและความสามารถในการลุกนั่ง
3.ให้ความรู้การออกกำลังกาย
4.ฝึกทักษะการออกกำลังกายพื้นฐาน (Basic Step) และท่าฝึกกล้ามเนื้อโดยใช้อุปกรณ์ (Muscle Training ทุก 2 สัปดาห์รวม 6 ครั้ง
5.ผู้สูงอายุฝึกเองที่บ้าน 2-3 ครั้ง 2 สัปดาห์ รวม 5 ครั้ง
6.เปรียบเทียบผลทดสอบ 4 ฐาน ทั้งก่อนและหลังเข้าโปรแกรมเป็นรายคนและคืนข้อมูลให้ผู้สูงอายุทราบต่อไป
โดยมี “มาสเตอร์” เป็นพยาบาลที่ได้รับการอบรม 35 คน รวมถึง “เทรนเนอร์” คือ อสม. ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการร่วมเป็นผู้ฝึก 35 คน
อสม.แรงหนุนสำคัญ
ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช. เขต 8 อุดรธานี เผยว่า สิ่งสำคัญ คือ เรามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ใส่ใจ คอนเซปต์หลัก คือ แต่ก่อนถ้าผู้สูงอายุหกล้ม ติดเตียงจะเน้นการดูแล แต่หากมองย้อนกลับไปต้องมองว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ล้ม นั่นก็คือ กล้ามเนื้อต้องแข็งแรง โปรแกรมนี้จึงเหมาะในการใช้ ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ รพ. และ รพสต. แล้ว ยังมี อสม. ที่ทำหน้าที่ชักชวนชาวบ้าน ร่วมเป็นผู้ฝึก ทำให้ผู้สูงอายุหันมาสนใจ พอออกกำลังกายดีขึ้น ร่างกายก็ดีขึ้น
- กล้ามเนื้อสำคัญสำหรับสูงวัย
ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุ หากออกกำลังกายให้ถูกส่วน จะทำให้ได้พัฒนากล้ามเนื้ออย่างตรงจุด “รัชชดา สุขผึ้ง” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ในฐานะ มาสเตอร์ อธิบายว่า กล้ามเนื้อที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ต้นแขน ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทานข้าว ซึ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้จะช่วยให้ใส่เสื้อผ้าได้เอง 2. กล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยในการลุกนั่ง เดิน ลุกจากที่นอนได้ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และ 3. กล้ามเนื้อส่วนขา สำคัญในการเดิน
"เพราะฉะนั้น การออกกำลังกาย โดยใช้ Self -Sustained Movement Program จะเป็นการออกเฉพาะส่วนทั้ง 3 ส่วนให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงใคร การเคลื่อนไหวร่างกายที่มีคุณภาพ จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
- ผลจากการร่วมโครงการ
ขณะเดียวกัน หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่คุณภาพชีวิตเปลี่ยนหลังจากร่วมฝึก 6 เดือนอย่าง บรรจง บุรีจันทร์ อายุ 63 ปี ชาวอำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี เล่าว่า ก่อนหน้านี้เดินไม่ได้ มีอาการปวดขาด้านซ้าย ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล กินยากว่า 6 เดือน คุณหมอจึงชวนเข้าร่วมโครงการ เพราะผู้สู้งอายุต้องออกกำลังกาย ในตอนแรกไม่อยากไปเพราะยังปวดขาอยู่ แต่เห็นเพื่อนไปจึงตัดสินใจไปด้วย
“โครงการมีกิจกรรมให้ทำมากมาย แม้ตอนแรกจะท้อแต่พอผ่านไป 6 เดือน อาการดีขึ้นเรื่อยๆ โดยพยายามฝึกอยู่บ้านตามคำแนะนำ ปัจจุบัน หายจากอาการปวด วิ่งได้ กระโดดได้ สุขภาพดีขึ้น จากที่คิดว่าจะกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งพาลูกหลาน ตอนนี้สุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องใช้ยา ทำงานได้ เกี่ยวข้าวได้ นา 5 ไร่ทำคนเดียว แนะนำให้ผู้สูงอายุดูแลช่วยเหลือตัวเอง ก่อนที่จะไปพึ่งพาคนอื่น และออกกำลังกาย” บรรจง กล่าว
- ยุทธศาสตร์ดูแลผู้สูงวัยระยะยาว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวขณะลงพื้นที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมโครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้มสมองเสื่อม โดยใช้ Self -Sustained Movement Program โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในระยะยาว ให้ความสำคัญกับการจัดระบบบริการต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง
ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขจัดบริการแก่ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบล กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ตลอดจนกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัด
โครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม สมองเสื่อม โดยใช้ Self-Sustained Movement Program เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความโดดเด่นและตอบโจทย์ในเรื่องนี้อย่างมาก การกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมตามโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และ กล้ามเนื้อ แขนร่างกายแข็งแรงป้องกันการพลัดหกล้มและสมองเสื่อม สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ ไม่เกิดภาวะพึ่งพิงถือเป็นโครงการที่น่าชื่นชมและ สปสช. ยินดีสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดโครงการลักษณะนี้ทั่วประเทศ