ยิ่ง "กินเนื้อสัตว์" มากเท่าไร ยิ่งซ้ำเติมโลกมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่ง "กินเนื้อสัตว์" มากเท่าไร ยิ่งซ้ำเติมโลกมากขึ้นเท่านั้น

คนในโลกนี้ หันมากินเนื้อสัตว์มากขึ้น ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ขยายตัว เกิดการตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อโลกร้อนและชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

รู้หรือไม่ ในรอบ 30 ปีมานี้ คนทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ทั้งที่จำนวนประชากรในโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นขนาดนั้น

น่าสังเกตว่า คนที่กินเนื้อสัตว์มากที่สุด คือคนในประเทศร่ำรวย สามอันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิสราเอล ขณะที่คนรัสเซีย จีน และเวียดนาม จากที่เคยกินพืชผักเป็นหลักก็เปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อคนกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น จากการเลี้ยงแบบพอยังชีพกลายเป็นการทำ “ฟาร์มอุตสาหกรรม” 

สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ การเลี้ยงสัตว์แบบนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และรอบด้าน ต่อโลกของเรา รวมถึงตัวเราที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ 
 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection จัดทำและเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ที่ชื่อว่า “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบปศุสัตว์เพื่อสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” โดยอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์อย่างขนานใหญ่ของมวลมนุษยโลก

 

ตัดป่าปลูกพืชอาหารสัตว์ เพื่อสัตว์ในฟาร์ม 
ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการตัดป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ แม้แต่ป่าแอมะซอนก็ยังถูกแผ้วถางจนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย

สัตว์กว่าหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ยังไม่นับผลกระทบจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ที่ไนโตรเจนจากปุ๋ยปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำจืดจนเกินมาตรฐานความปลอดภัย หรือตัวอย่างการเกิด “เขตมรณะ” ขนาดใหญ่กว่า 6,300 ตารางเมตร ในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปีที่ผ่านมา 
 

ยิ่ง \"กินเนื้อสัตว์\" มากเท่าไร ยิ่งซ้ำเติมโลกมากขึ้นเท่านั้น

(ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากฟาร์มขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เสมอ)

การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ใหญ่ที่สุด ก๊าซเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องรับมืออยู่ในขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มอุตสาหกรรมยังใช้พลังงานสูง ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การให้แสงสว่างและควบคุมอุณหภูมิในฟาร์ม รวมไปถึงระบบระบายอากาศ ล้วนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสภาพอากาศและมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น

 

โลกสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร
พื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกนี้ที่เคยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชให้เราได้กินกัน ปัจจุบันถูกปรับเป็นแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ การที่พืชผลทางการเกษตรและที่ดินถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์แทนที่จะเป็นอาหารของมนุษย์ ส่งผลให้อาหารตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง

เพราะเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมีราคาสูงกว่าพืชผัก ผู้คนทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในราคาที่เหมาะสมเหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไป
การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมยังสิ้นเปลืองน้ำ

  • กว่าจะได้กินเนื้อวัว เราต้องใช้น้ำมากกว่าปลูกพืชผักถึง 9 เท่า
  • การเลี้ยงหมูใช้น้ำมากกว่าการเพาะปลูก 4 เท่า
  • เนื้อไก่ใช้น้ำมากกว่า 3 เท่า

ถ้าเลี้ยงอย่างหนาแน่นก็ยิ่งใช้น้ำมากขึ้นอีก มีตัวเลขว่า น้ำจืดร้อยละ 70 ของโลกถูกนำไปใช้ในการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม 
 

ภาวะขาดแคลนอาหาร

 ในปี พ.ศ. 2563 ประชากรโลกประมาณ 720-811 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญความอดอยากหิวโหยจากเหตุความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน

หลังโควิด 19 แพร่ระบาด ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นอีก คนในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางต้องรับมือกับ “ภาระสองเท่า” ของภาวะทุพโภชนาการ และเผชิญกับโรคขาดสารอาหาร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 144 ล้านคนมีภาวะเตี้ยและแคระแกรน อีก 47 ล้านคนมีภาวะผอม 
คนอีกจำนวนหนึ่งกลับมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด มะเร็ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้นสามเท่า และในจำนวนคนทั่วโลกที่เสียชีวิต 57 ล้านราย เป็นการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 41 ล้านราย หรือร้อยละ 70 การกินอาหารจากฟาร์มปศุสัตว์มากเกินไป แต่กินผักผลไม้น้อย ถูกจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

“เชื้อดื้อยา” จากฟาร์มสัตว์สู่คน 
  ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตพยายามกดต้นทุนให้ต่ำ โดยการทำฟาร์มขนาดใหญ่ที่คุ้มทุนกว่าการเลี้ยงแบบพอยังชีพ การเลี้ยงสัตว์อย่างแออัดยัดเยียดใช้สายพันธุ์โตไวแต่ต้านทานโรคต่ำ ทำให้สัตว์อ่อนแอ ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วย

การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรวมหมู่ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ “เชื้อดื้อยา” และเชื้อเหล่านี้ก็เล็ดลอดจากฟาร์ม ทั้งรั่วไหลออกมากับน้ำทิ้งไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ ปะปนกับคนเลี้ยงสัตว์ และผู้คนก็เสี่ยงรับเชื้อขณะปรุงอาหาร รวมถึงคนที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ 
มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ประชากรโลกเสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 700,000 รายต่อปี

และหากสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป คาดว่าภายในปี 2593 จำนวนผู้เสียชีวิตจะขยับไปอยู่ที่ 1.27 ล้านคนต่อปี เชื้อดื้อยายังสร้างปัญหาด้านสาธารณสุข เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังผ่าตัด การปลูกถ่ายอวัยวะ ให้ยาเคมีบำบัด โดยยาที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
 

ความเครียดของคนงานในพื้นที่แคบๆ

โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูป และโรงงานบรรจุภัณฑ์ ใช้แรงงานสูง แม้จะปรับระบบการทำงานให้ทันสมัย แต่อุบัติเหตุแบบเดิม ๆ ยังอยู่ คนงานยังบาดเจ็บจากการลื่นล้ม หรือโดนเครื่องจักร รวมถึงโรคจากการทำงาน เช่น กล้ามเนื้อและกระดูกผิดปกติ โรคเครียด

โดยความเครียดของคนงานมาจากการทำงานในพื้นที่คับแคบ เสี่ยงโรค ในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด คนงานในโรงบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ในสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโควิดสูงกว่า 300,000 ราย และกลุ่มคนงานแปรรูปเนื้อสัตว์ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและล้มป่วยจากการทำงานมากที่สุด 

การจ้างงานในระบบการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์มักเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ค่าจ้างต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน ในยุโรปพบว่าบริษัทผลิตเนื้อมีการจ้างคนงานจำนวนมากด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ

 รายงานฉบับเต็ม ภัยคุกคามที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม 
https://www.worldanimalprotection.or.th/The-hidden-health-impacts-of-factory-farming