เคยเป็นไหม? Post-Vacation Blues ฉุดวัยทำงาน "ซึมเศร้า" หลังจบ "วันหยุดยาว"
รู้จักภาวะ Post-Vacation Blues ที่ทำให้ "วัยทำงาน" มีอาการหดหู่ เศร้า เหงา หลังกลับจากพักผ่อนในช่วง "วันหยุดยาว" แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง และมีวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นได้
ไม่พร้อมทำงานเอาซะเลย! เมื่อต้องกลับมาเริ่มงานหลัง "วันหยุดยาว" ชาวออฟฟิศหลายคนรู้สึกหดหู่ เศร้า เหงา อย่างบอกไม่ถูก รู้หรือไม่? คุณอาจกำลังอยู่ในภาวะ Post-Vacation Blues
Post-Vacation Blues คือ ภาวะอารมณ์หดหู่/ซึมเศร้า ที่มักเกิดขึ้นได้หลังกลับจากการท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าอาการนี้จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า
เพียงแต่เป็นผลมาจากในช่วงที่ได้ออกไปเที่ยวนั้น ระดับฮอร์โมนความสุขในร่างกายคนเราจะพุ่งสูงขึ้น แต่เมื่อกลับมาสู่โหมดใช้ชีวิตปกติ ระดับฮอร์โมนความสุขก็ลดลงมาอยู่ในระดับปกติด้วยเช่นกัน (แต่ไม่ได้ลดลงอย่างผิดปกติ) จึงทำให้คนเรามีภาวะหดหู่ชั่วขณะ
เรื่องนี้มีการยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “Vacationers Happier, but Most not Happier After a Holiday” ของเว็บไซต์วิชาการ National Library of Medicine (ข้อมูลวิจัย ณ ปี 2010) ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับความสุข ระหว่างผู้ที่ออกเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดกับผู้ที่ไม่ได้เที่ยวพักผ่อน
โดยผลการวิจัยชี้ว่า ผู้พักร้อนใน “วันหยุดยาว” รายงานความสุขของตนเองในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้พักร้อน หลังจากกลุ่มทดลองกลุ่มแรกกลับจากการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ทีมวิจัยวัดผลอีกครั้งและพบว่าระดับความสุขสำหรับผู้ทดลองทั้งสองกลุ่มมีระดับเท่ากัน
นั่นแสดงให้เห็นว่าระดับความสุขที่สูงขึ้นในวันหยุดพักผ่อนอยู่ได้ไม่นาน และนำไปสู่ความรู้สึก “ถอนตัว” (เป็นอาการถอนจากความสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถอนยา, ถอนคาเฟอีน เป็นต้น) เมื่อวันหยุดสิ้นสุดลง
สำหรับบางคนอาการถอนตัวนี้อาจทำให้พวกเขารู้สึกหดหู่หรือซึมเศร้า แต่ทั้งนี้ มีวิธีที่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ หลังจากวันหยุดยาวครั้งต่อไปจะได้ไม่ต้องรู้สึกหดหู่แบบนี้อีก โดยทำตามคำแนะนำดังนี้
- แบ่งเวลาพักระหว่างทริป อย่าอัดโปรแกรมเยอะจนเหนื่อย
หลายคนยัดเยียดโปรแกรมเที่ยวจุดต่างๆ ให้มากที่สุดเพราะกลัวว่าจะเที่ยวไม่คุ้มค่ากับเวลาที่มี แต่รู้หรือไม่? การทำแบบนั้นยิ่งทำให้คุณเหนื่อยมากขึ้นหลังจากกลับถึงบ้าน และยิ่งส่งผลให้มีภาวะ Post-Vacation Blues ได้ง่าย ดังนั้นในระหว่างทริปใน “วันหยุดยาว” ต้องแบ่งเวลาพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ระหว่างทริปด้วย อย่าใช้พลังงานเยอะจนเกินไป
- ถ่ายรูปในทริป และเขียนบันทึกให้มากที่สุด
หนึ่งในวิธีการปรับตัวให้เข้าสู่โหมดชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นหลังกลับจากวันหยุดยาว ก็คือ การจดบันทึกการเดินทางของคุณให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย เขียนไดอารี่ประจำวัน และของที่ระลึกจากสถานที่ที่ไปเที่ยวมา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณนึกถึงความทรงจำดีๆ ในทริปวันหยุดครั้งนั้น ทำให้สร้างความสุขขึ้นมาได้เสมอแม้ว่าคุณจะกลับเข้าสู่โหมดชีวิตปกติแล้ว
- ก่อนหยุดยาว เคลียร์บ้านให้สะอาดเตรียมไว้
เมื่อมาถึงบ้านหลังจากทริปเที่ยววันหยุด หลายคนยิ่งหดหู่และท้อใจมากกว่าเดิมเมื่อเห็นว่าบ้านรก และมีงานบ้านรอให้ทำอยู่เต็มไปหมด ทั้งๆ ที่ร่างกายก็เหนื่อยมาอยู่แล้ว การที่จะต้องมาซักผ้า กวาถูบ้าน ล้างจานอีก ยิ่งทำให้คุณ #หดหู่หลังวันหยุดยาว มากขึ้น
ดังนั้น สิ่งสำคัญก่อนจะถึงวันหยุดยาว คุณควรเคลียร์งานบ้านทุกอย่างให้เสร็จก่อนจะเดินทาง เพื่อที่กลับมาแล้วจะได้เจอบ้านสะอาดน่าอยู่ พร้อมนอนพักได้เต็มที่ ไม่มีความหงุดหงิดใจใดๆ อีกทั้งมีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าการเห็นที่พักอาศัยที่สะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย ช่วยให้สภาวะจิตใจดีขึ้นได้ด้วย
- เปลี่ยนแผนวันเดินทางกลับให้เร็วขึ้น
บางคนชอบอยู่เที่ยวจนถึงวันหยุดวันสุดท้าย และเดินทางกลับมาทำงานในวันถัดไปทันที โดยที่ไม่เว้นว่างให้หยุดพักเลย พฤติกรรมแบบนี้ก็มีส่วนทำให้คุณตกอยู่ในภาวะ Post-Vacation Blues ได้ง่ายอีกเช่นกัน
วิธีแก้ไขคือ ลองปรับเปลี่ยน “วันเดินทางกลับ” ให้เร็วขึ้นอีก 1 วัน เช่น หากหยุดยาวช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แทนที่จะเดินทางกลับเช้าวันจันทร์ และไปเริ่มทำงานต่อทันที ให้เปลี่ยนเป็นเดินทางกลับในวันอาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวปรับใจสักนิด ก่อนเข้าสู่โหมดชีวิตประจำวันรอบใหม่
- วางแผนกิจกรรมสนุกๆ ในปฏิทินหลังวันหยุดยาว
อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการหดหู่ซึมเศร้าจากภาวะ Post-Vacation Blues ได้ ก็คือ การวางแผนกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ ลงในปฏิทินในช่วงหลังจากวันหยุดยาว เช่น ไปดูหนัง, นัดทานข้าวกับเพื่อน, ไปเดินตลาดนัดกลางคืน, ช้อปปิ้ง, ไปดินเนอร์ในโรงแรมหรือร้านอาหารที่ให้บรรยากาศเหมือนไปเที่ยวต่างจังหวัด, ไปร่วมงานเวิร์กช็อปต่างๆ เหล่านี้จะช่วยรีเฟรชจิตใจให้กลับมาสดชื่น และลดอาการหดหู่หลังวันหยุดยาวได้อย่างดีเลยทีเดียว
-------------------------------------------
อ้างอิง : The National Center for Biotechnology Information, healthline, psych central