รู้จัก "มูลนิธิรามาธิบดี" หลัง “ฮาตาริ” บริจาคเงิน 900 ล้านบาท
ทำความรู้จัก "มูลนิธิรามาธิบดี" กับปณิฐาน "คำว่าให้ไม่สิ้นสุด" หลังจาก “จุน วนวิทย์” วัย 85 ปี ผู้ก่อตั้งพัดลมแบรนด์สัญชาติไทย “ฮาตาริ” บริจาคเงิน 900 ล้านบาท
หลังจาก “จุน วนวิทย์” ในวัย 85 ปี รวมถึง “สุนทรี วนวิทย์” และครอบครัว ผู้ก่อตั้งพัดลมแบรนด์สัญชาติไทย “ฮาตาริ” ได้ทำการบริจาคเงินส่วนตัว 900 ล้านบาท ให้แก่ "มูลนิธิรามาธิบดี" เพื่อสมทบทุนโครงการปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีศาลายา 160 ล้านบาท โครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา 300 ล้านบาท และโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี 440 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
ทำความรู้จัก "มูลนิธิรามาธิบดี"
ทั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดี นับว่าเป็น มูลนิธิเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคณะแพทยศาสตร์เป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 จากการที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี คณบดีท่านแรกของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมคณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วย
เพราะปัญหาการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเนื่อง ทำให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ขณะเดียวกัน มีผู้ประสงค์ขอบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หน้าที่ของ มูลนิธิรามาธิบดี
"มูลนิธิรามาธิบดี" ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และนำไปจัดสรร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านการแพทย์ช่วยต่อลมหายใจผู้ป่วยให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพทุกระดับชั้น ด้วยประโยชน์ที่ได้สร้างให้กับสังคมและประชาชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ อยู่ในพระราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551
กว่า 53 ปี “มูลนิธิรามาธิบดี” ยังคงดำเนินงานเป็น “สะพานแห่งการให้” พัฒนาวงการสาธารณสุข ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ต่อไปเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ตามปณิธาน “คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด” โดยปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ
ซึ่งการระดมทุนที่ผ่านมานั้น สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้ช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น นำไปซื้อเครื่องมือแพทย์กว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4 เป้าหมายหลัก ของการ "ให้"
จากปณิธานที่ต้องการเป็นองค์กรการกุศล ของคนไทยในฐานะเป็นสื่อกลางให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ “ให้” สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนกับผู้เจ็บป่วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยแนวคิดใหม่ที่เน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลจริง เพื่อทุกการ “ให้” สร้างประโยชน์สูงสุดในพันธกิจหลักทั้ง 4 ด้าน คือ
1. รักษา
เป็นที่พึ่งของคนไทยทุกคน ทุกระดับชั้นให้พันจากความเจ็บป่วย สนับสนุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทุกระดับได้รับการรักษาที่มี มาตรฐานและเป็นไปอย่างทั่วถึง สนับสนุนทุนการปรับปรุงและก่อสร้าง อาคารสถานที่ในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอันเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรักษาพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. วิจัย
เพื่อความเป็นเลิศในการรักษาและพร้อมรับมือกับโรคใหม่ๆ สนับสนุนด้าน การค้นคว้าและวิจัยทางการแพทย์ในโครงการต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการ พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนในการรักษา และ ช่วยเหลือผู้ป่วยในอนาคต
3. สร้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
เพื่อให้ประเทศไทยมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ และมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการสนับสนุนทุนการศึกษาของนักศึกษา แพทย์และพยาบาล เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมการสร้าง บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ
4. สร้างเสริมสุขภาพ
สนับสนุนการให้ความรู้เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเจ็บป่วยแก่ประชาชน ทั่วไป เพราะการให้สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่ต้อง มีทั้งการวิจัย การสร้างแพทย์ และการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็น วัฎจักรไม่สิ้นสุด ทุกโครงการของมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงส่งเสริมทั้ง 4 ด้านนี้ อย่างต่อเนื่อง
โครงการของ มูลนิธิรามาธิบดี
สำหรับโครงการภายใต้ มูลนิธิรามาธิบดี มีด้วยกันหลายโครงการ รวมถึงมีการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อขยายความร่วมมือ และความช่วยเหลือทางการแพทย์ อาทิ
JD Central
ในโครงการ “#ให้หัวใจแทนน้ำตา” และ “มูลนิธิรามาธิบดีฯ รวมพลัง Super App เพื่อนักสู้ชุดขาว” โดยปี 2562 ได้จัดให้มีกิจกรรม “JOY of giving” ร่วมกับดีไซเนอร์ชั้นนํา 3 ท่าน ออกแบบลายเสื้อเพื่อจําหน่ายผ่านเจดีเซ็นทรัล และในปี 2563 ได้ร่วมแคมเปญ “ให้หัวใจแทนนํ้าตา” เชิญชวนประชาชนร่วมกันเปลี่ยนกรอบรูปบนโซเชี่ยล มีเดีย 1 โพสต์ = 10 บาท ซึ่งมีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ต่อมาเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เจดีเซ็นทรัล ได้เชิญชวนลูกค้าร่วมบริจาคเงิน ผ่านการเปลี่ยนเจดีพ้อยท์เป็นเงินบริจาค และการบริจาคผ่านคูปองที่จำหน่ายบนแพลทฟอร์มเจดีเซ็นทรัล เพื่อสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับแอพลิเคชั่ต่างๆ ในโครงการมูลนิธิรามาธิบดีฯ รวมพลัง Super App เพื่อนักสู้ชุดขาว”
แกร็บ (Grab)
เข้าร่วมโครงการ “มูลนิธิรามาธิบดีฯ รวมพลัง Super App เพื่อนักสู้ชุดขาว” อาศัยจุดแข็งที่เป็นแอปพลิเคชันที่เข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก ช่วยระดมทุนผ่าน GrabPay Wallet และการใช้คะแนน GrabRewards ซึ่งปัจจุบันมียอดบริจาครวมกว่า 3 แสนบาท
กลุ่มบริษัทเกรฮาวด์
เปิดประสบการณ์ “การให้” ในรูปแบบใหม่ สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับ “การให้” ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ การเชิญศิลปินมาวาดภาพลูกค้าในร้าน แบ่งรายได้จากการจำหน่ายอาหารจานซิคเนเจอร์ จัดทำคลิปวิดีโอช่วยระดมทุน รวมถึงแจกอาหารให้แก่ผู้ป่วยและญาติที่มาโรงพยาบาลรามาธิบดีและ การออกแบบสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เป็นต้น
คอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว
ร้านอาหารคอฟฟี่ บีนส์ บาย ดาว ร่วมบริจาคเงินกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่รับบริจาค โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วม อาทิ
“โครงการศูนย์นวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย”
เพื่อร่วมดูแลชีวิตผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนนาทีสุดท้ายของชีวิต สร้างมาตรฐานการดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อเป็นต้นแบบแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึง สร้างกระบวนการเรียนรู้ และฝึกอบรมบุคลากรการแพทย์ อาสาสมัคร คนในครอบครัว เพื่อผลิตผู้ดูแล (Care Giver) ที่มีความรู้เฉพาะทาง และ สร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการศูนย์นวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย
โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
เพื่อเตรียมพร้อมเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคติดต่อต่างๆ รวมถึงเพื่อการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก เช่น กล้องส่องตรวจปอดและหลอดลม เครื่องเอ็กซเรย์ระบบดิจิทัลต่าง ๆ เป็นต้น โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรักษาพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้และขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสในการรักษา เติมความหวัง ขจัดความทุกข์ และคืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยยากไร้ ครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท รวมถึง ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุอาพาธและแม่ชีที่ป่วย ผู้ป่วยเร่ร่อนจรจัด ผู้ป่วยในพระราชูปถัมภ์ ผู้ป่วยจากเหตุการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ผู้ป่วยต่างด้าว
รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะถึงแม้ว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับสิทธิการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิพื้นฐานอื่นๆ แต่พบว่า มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าว อีกในหลายกรณี ได้แก่
- สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค เช่น การปลูกถ่ายตับ การเปลี่ยนไต และ เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก เป็นต้น
- ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นส่วนเกินจากสิทธิที่ผู้ป่วยต้องชำระเอง
- กรณีผู้ป่วยดำเนินการผิดขั้นตอน ใช้สิทธิไม่ถูกต้อง หรือยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี
เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้สามารถจ่ายค่าการศึกษาและค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีพ อันจะทำให้นักศึกษาเล่าเรียนได้ตามความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ เมื่อจบการศึกษา จะได้นำความรู้ไปพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญจนเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี
โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือจากรุ่นสู่รุ่น
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
รับผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาต่างๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพราะหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยเหล่านี้อาจเสียชีวิตทันทีหรือทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถจำนวน 79 ราย โดยเป็นผู้ป่วยเด็ก 43 ราย ผู้ใหญ่ 36 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับไขกระดูกจากตนเองจำนวน 19 ราย จากคนอื่นจำนวน 60 ราย (จากพี่น้องพ่อแม่เดียวกันและมารดาจำนวน 59 รายและบุคคลอื่น เช่น ไต้หวันจำนวน 1 ราย)
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
โครงการซื้ออุปกรณ์สอนกู้ชีพ CPR
ภายใต้ “โครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จิตอาสา CPR” ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 45 ล้านบาท โดยอุปกรณ์การสอนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการซื้ออุปกรณ์สอนกู้ชีพ CPR