รอบเอวเกินส่วนสูงหาร 2 รึเปล่า? เกณฑ์ประเมิน "โรคอ้วน" ต้องลดพุงลดโรค
เมื่อเกณฑ์ประเมิน "โรคอ้วน" แบบใหม่ ไม่ใช่แค่ตรวจดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้อง "วัดรอบเอว" โดยตัวเลขต้องห้ามเกิน "ส่วนสูง หาร 2" จึงจะคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้แม่นยำ
เมื่อเกณฑ์ประเมิน "โรคอ้วน" แบบใหม่ ไม่ใช่แค่ตรวจวัดดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว โดย นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเมื่อ 18 ส.ค. 65 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้ว การจะทำให้ประชาชนก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้สุขภาพดี ตั้งแต่ “วัยทำงาน” จนกระทั่งถึง “วัยสูงอายุ”
หนึ่งในวิธีส่งเสริมสุขภาพให้ประชากรไทยก็คือ การประเมินและเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในวัยทำงานถึงวัยสูงอายุ
อีกทั้ง ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ในช่วงปี 2557-2558 พบว่า สัดส่วนประชากรส่วนใหญ่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวเกิน แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ "รอบเอวปกติน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง" พบว่ามีประชากรไทยเข้าข่ายอ้วนเกินเกณฑ์มาตรฐานมากถึงร้อยละ 4.9
ดังนั้น การประเมินสุขภาพเบื้องต้นด้วยเกณฑ์ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดเกณฑ์การประเมินภาวะโรคอ้วนแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีภาวะโภชนาการดีและสุขภาพดี โดยขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์ คือ
1) ค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
2) ค่ารอบเอวปกติไม่เกินส่วนสูงหารสอง
โดยวิธีนี้จะสามารถบ่งชี้ "ภาวะอ้วนลงพุง" ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจ ได้แม่นยำมากขึ้น
ทั้งนี้ ค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเชียที่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุยังคงใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ ค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5 - 22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนเกณฑ์ “รอบเอว” ค่าปกติต้องไม่เกินส่วนสูงของตนเองหารด้วยสอง โดยใช้ร่วมกันทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ รพ.รามาธิบดี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล, เครือข่ายคนไทยไร้พุง, สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี, สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย, สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย และ สสส.
ได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์การประเมินภาวะโภชนาการของคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถใช้ประเมินตนเองให้รู้ภาวะสุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นด้วยการกำหนดเกณฑ์ "รอบเองน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง"
นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีคำแนะนำถึงกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่ต้องการ “ลดอ้วน ลดพุง” สามารถปรับปรุงดูแลสุขภาพตนเองได้ตามวิธีต่างๆ ดังนี้
- กินอาหารให้ตรงเวลา เน้นให้มีความหลากหลายครบ 5 หมู่
- กินอาหารในสัดส่วน 2:1:1 คือ ผักหลากสี 2 ส่วน, เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน, ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน
- ลดการกินอาหารประเภท หวาน มัน เค็ม ชา กาแฟ ขนมเบเกอรี
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
- ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
- ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส พยายามไม่เครียด ไม่คิดฟุ้งซ่าน
---------------------------------------
อ้างอิง : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข