“โควิด” ดีขึ้น ดึงยอดท่องเที่ยว
จากสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มดีขึ้น มีการประเมินว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีประมาณ 100 ล้านคน-ครั้งแล้ว ใกล้จะถึงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง หากมีการเดินทางอีก 20 ล้านคน-ครั้งต่อเดือนน่าจะสามารถทำสร้างรายได้ 656,000 ล้านบาท
หลักการรักษาโรคภัย ไข้เจ็บต่างๆ จะต้องมีหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในการรักษาเพื่อให้ “แพทย์” ผู้ที่ทำการรักษา ยึดเป็นแนวปฏิบัติ โดยเบื้องต้นจะต้องซักถามอาการ “ป่วย” จากคนไข้ก่อน จากนั้นก็จะวินิจฉัยโรคโดยยึดตามหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ วินิจฉัย ตัดสินใจรักษา และสั่งยาให้กับคนไข้ รวมทั้งโรคใหม่อย่าง “โควิด-19” ก็เช่นกัน การรักษา หรือวินิจฉัย ก็ต้องยึดถือตามที่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาการด้านการใช้ยา ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กำหนดแนวทางการใช้ยาตามหลักวิชาการด้านการแพทย์
กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ให้ยาต้านไวรัส ส่วนที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์โดยเร็ว ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางให้ยาต้านไวรัส 1 ชนิด ภายใน 5 วัน คือ โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์ หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) หรือโมลนูพิราเวียร์
ส่วนผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วัน หลังมีอาการและได้รับออกซิเจน ให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก และติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ตามดุลยพินิจของแพทย์
ล่าสุด (12 ก.ย.) มีผู้ป่วยโควิดสะสมแล้ว 2.4 ล้านคน ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 698 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด ผู้ป่วยสะสม 2,444,809 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 1,966 รายหายป่วยสะสม 2,455,713 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 11,483 ราย เสียชีวิต 15 ราย เสียชีวิตสะสม 10,856 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 678 ราย
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรวจด้วย ATK ในรอบ 7 วัน ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2565 จำนวน 107,503 ราย รวมยอดสะสม 7,940,017 ราย พบกทม. มากที่สุดจำนวน 365 ราย ผลการศึกษาการใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ในไทยพบว่าทำให้ผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงต่ำที่ไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น ต่างจากในทวีปอเมริกาเริ่มให้ยาช้าในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง และมีน้ำหนักมากโดยไม่มีการปรับขนาดยา ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ต่างจากไทย แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้ยาฯจะมีการปรับแนวทางให้เหมาะสมต่อไป
จากสถานการณ์โควิดที่มีแนวโน้มดีขึ้น มีการประเมินว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีประมาณ 100 ล้านคน-ครั้งแล้ว ใกล้จะถึงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง หากมีการเดินทางอีก 20 ล้านคน-ครั้งต่อเดือนน่าจะสามารถทำสร้างรายได้ 656,000 ล้านบาทนำไปสู่เป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาทได้ ส่วนปี 2566 ทั้งปีตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง ซึ่ง อีก 2 เดือนจะถึงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ต่อเนื่องในเดือนมกราคม-มีนาคม คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรป หากรัฐบาลจีนปลดล็อกให้พลเมืองเดินทางเที่ยวต่างประเทศได้ จะทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทยดีขึ้นพร้อมกับสถานการณ์โควิดก็จะดีขึ้นด้วยเช่นกัน