ปี 68 เทรนด์ Lifestyle Medicine  หนุนตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 %

ปี 68 เทรนด์ Lifestyle Medicine   หนุนตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 %

วัยทำงานอายุ 40 เริ่มใส่ใจสุขภาพเทียบเท่ากลุ่มผู้สูงวัย คาดปี 2568 ตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 % จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านบาท รับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหลังเห็นผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ

KEY

POINTS

  • 3 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอาหารเสริมเติบโต คือ 1.Lifestyle Medicine 2.ราคายาแผนปัจจุบันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% และ3.การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขที่ใช้เวลานานขึ้น
  • คาดปี 2568 ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะเติบโตประมาณ 10 – 15% รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ
  • อาหารเสริมที่มีแนวโน้มขับเคลื่อนตลาด ได้แก่ อาหารเสิรมที่มีโปรไบโอติกและพรีไบโอติก อาหารเสริมที่ส่งผลต่อการเติบโตของโภชนาการการกีฬา และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ

วัยทำงานอายุ 40 เริ่มใส่ใจสุขภาพเทียบเท่ากลุ่มผู้สูงวัย คาดปี 2568 ตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 % จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านบาท รับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหลังเห็นผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ 3 ปัจจัยหนุนตลาดเติบโตต่อเนื่อง เทรนด์ Lifestyle Medicine การปรับพฤติกรรมสู่การรักษาโรค ราคายาแผนปัจจุบันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% และ. การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขที่ใช้เวลานานขึ้น

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และเครื่องดื่ม ในประเทศไทย มีมูลค่าการตลาดมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างไรก็ตามหลังจากที่การระบาดคลี่คลายลงแล้ว แต่แนวโน้มการเติบโตของสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง   

เป็นเพราะหลังจากเกิดการตื่นตัวด้านการดูและสุขภาพในช่วงที่มีการระบาด ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป เนื่องจากตระหนักถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพว่าสุขภาพของหลายๆคนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเกิดเป็นพฤติกรรมที่ขยายไปสู่วงกว้างในสังคม     

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สำรวจ 7 ธุรกิจอาหารเสริม ในตลาดหุ้นไทย ใครกำไรมากสุด? 

ส่อง! อาชีพแปลกๆ แหวกแนว สร้างรายได้ดีเกินคาด

ปัจจัยเทรนด์การใส่ใจสุขภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“พิษณุ แดงประเสริฐ”  ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) ซึ่งรับจ้างผลิต (OEM) ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ และผลิตภัณฑ์ Own Brand เปิดเผยว่าแม้ว่าเทรนด์การใส่ใจสุขภาพและการปรับพฤติกรรมจะสร้างการรับรู้ให้คนทั่วโลกมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในปี 2568 เทรนด์การใส่ใจสุขภาพจะยังคงเติบได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนจาก 3 ปัจจัยดังนี้

1. Lifestyle Medicine (วิถีชีวิตบำบัด หรือ เวชศาสตร์วิถีชีวิต) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันโดยการร่วมมือระหว่างแพทย์และคนไข้ ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การนอนหลับ การเลิกสูบบุหรี่ การเข้าสังคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน หรือกระทั่งรักษาโรคซึ่งเป็นการบำบัดที่สาเหตุ

ถือเป็นการบำบัดแบบใหม่ที่สามารถป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดการใช้ยาลงได้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน โดย Lifestyle Medicine กำลังเป็นเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจ และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวัตถุดิบจากสารสะกัดจากธรรมชาติได้รับความสนใจไปพร้อมๆกัน

ปี 68 เทรนด์ Lifestyle Medicine   หนุนตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 %

ปี 68 ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเติบโต 10 – 15%

2. ราคายาแผนปัจจุบันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น 10 – 20% ส่งผลให้ การหันมาปรับพฤติกรรมการกิน ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น น้ำมันงาดำ น้ำมันรำข้าว และซูเปอร์ฟู้ดที่ให้พลังงานสูง เช่น ไข่ผำ เป็นต้น ซึ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันจะทำให้ลดการใช้ยาหรือใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น

3. การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขที่ใช้เวลานานขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาดูแลตัวเองแม้ว่าจะมีความกำลังซื้อในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แต่ไม่ต้องการเสียเวลาในการรอคอยเพื่อเข้าถึงบริการ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

"จากปัจจัยสนับสนุนทั้ง 3 ด้านนี้ คาดว่า ปี 2568 ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะเติบโตประมาณ 10 – 15% นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ จากเดิมที่พบว่ายอดขายส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงทำให้ตลาดขยายตัวไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และคาดว่าภายใน 5 ปีสัดส่วนยอดขายในกลุ่มวัยทำงานจะเติบโตเทียบเท่ากลุ่มวัย 60 ปีขึ้นไป"

สอดคล้องกับงานวิจัยของ ฟิวเจอร์ มาร์เก็ต อินไซต์ (Future Market Insights) ผู้นำด้านงานวิจัยในสหรัฐฯ ระบุว่าภายในปี 2577 มูลค่าของตลาดอาหารเสริมทั่วโลกคาดว่าจะเกิน 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเติบโตตามโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง ตลอดจนวิถีชีวิตที่วุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคอาหารของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการบริโภคทั่วโลก

โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 9.5% และจากการที่ผู้บริโภคในปัจจุบันใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ของตนเองอย่างแท้จริงอย่างเป็นรูปแบบที่ชัดเจน ด้วยการดูแลเชิงป้องกันที่กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพของตนเอง จึงส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากแนวโน้มด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในวงกว้าง

อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก ได้รับความนิยมสูง

โดยอาหารเสริมควบคุมน้ำหนักกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้คนต้องต่อสู้กับโรคอ้วนและค้นหาวิธีที่ดีต่อสุขภาพในการลดน้ำหนัก แนวคิดด้านสุขภาพเชิงรุกที่ผู้คนยอมรับทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้น

อาหารเสริมอีกหลายชนิดที่มีแนวโน้มขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญได้แก่ 

1 อาหารเสิรมที่มีโปรไบโอติกและพรีไบโอติก: การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพทางเดินอาหารที่เพิ่มขึ้นกำลังเพิ่มความต้องการโปรไบโอติกและพรีไบโอติก

2 อาหารเสริมที่ส่งผลต่อการเติบโตของโภชนาการการกีฬา: ความต้องการอาหารเสริมโภชนาการการกีฬาที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโดยนักเพาะกายและนักกีฬาที่ต้องการความอดทนและความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้น

3 อาหารเสริมเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ: ความนิยมที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาหารเสริมจากธรรมชาติในหมู่ผู้ชื่นชอบกีฬา มีเป้าหมายเพื่อลดการสึกหรอ ปรับปรุงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มระดับพลังงาน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดอาหารเสริมเติบโตไม่เพียงแต่ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นถึงประโยชน์ของการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ยังมาจากประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังเพิ่มความต้องการอาหารเสริมที่มีเป้าหมายในการมีอายุยืนยาว สุขภาพกระดูก การทำงานของสมอง และภูมิคุ้มกัน

ประชากรวัยทำงานกำลังเพิ่มการมุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อรักษาสุขภาพและป้องกันโรคเรื้อรัง และการอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วน ส่งผลให้การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นวิธีการจัดการหรือลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ 

รวมถึงปัจจัยด้านการเติบโตของแพลตฟอร์มการค้าปลีกออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่หลากหลายได้อย่างง่ายดาย เพิ่มความพร้อมและส่งเสริมการเติบโตของตลาด ไม่เพียงเท่านี้นวัตกรรมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ความก้าวหน้าในการกำหนดสูตรอาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉพาะบุคคลและจากพืช สามารถดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพที่กำลังมองหาวิธีแก้ปัญหาที่ตรงเป้าหมายหรือเป็นธรรมชาติ