“สคบ.” ตอบชัด “เซอร์วิสชาร์จ” ไม่จ่ายได้ไหม?
เซอร์วิสชาร์จ (Service Charge) คืออะไร? ลูกค้าไม่อยากจ่ายแล้วผิดกฎหมายไหม? สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตอบชัดว่าอะไรทำได้ และทำไม่ได้...
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แนวความคิดของร้านอาหารที่คิดว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ไม่มีอีกแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ร่วมกันของลูกค้า และผู้ให้บริการร้านอาหาร แต่เมื่อไม่นานมานี้โลกโซเชียลมีการตั้งคำถามถึงการเก็บค่า “เซอร์วิสชาร์จ (Service Charge)” ที่ไม่เกิดความคุ้มค่าต่อบริการที่ได้รับกลับมา
- "เซอร์วิสชาร์จ" คืออะไร?
เซอร์วิสชาร์จ ที่เป็นประเด็นในตอนนี้ คือค่าบริการที่ผู้ประกอบการร้านค้า คิดเงินเพิ่มจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ เป็นรายได้ที่นำมาแบ่งให้แก่พนักงานบริการในแต่ละเดือน ถือเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของพนักงาน
โดย ‘กรมการค้าภายใน’ ระบุไว้ว่า กรมการค้าภายในดูแลอัตราค่าบริการเซอร์วิส ชาร์จ ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม ซึ่งปกติจะเรียกเก็บที่อัตรา 10% ของมูลค่าอาหารที่ใช้บริการในแต่ละครั้ง แต่หากเรียกเก็บสูงเกินกว่านี้ อาจเข้าข่ายคิดค่าบริการสูงในอัตราเกินสมควร ซึ่งจะมีโทษปรับ 140,000 บาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการขายอาหารได้เรียกเก็บค่าบริการ (Service Charge) ในอัตราร้อยละของค่าอาหารจากผู้บริโภคที่มาใช้บริการ โดยได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้กับผู้บริโภค ค่าบริการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าอาหารตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นรายได้ของกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
- หากลูกค้าไม่อยากจ่ายเซอร์วิสชาร์จ ทำได้ไหม?
ทีนี้อาจมีคำถามต่อไปว่า หากพนักงานให้บริการไม่เป็นที่พอใจ ลูกค้าสามารถไม่จ่ายค่า "เซอร์วิสชาร์จ" ได้ไหม ทาง ‘สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค’ ให้ข้อมูลว่า แม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเซอร์วิสชาร์จโดยตรง
แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายในคือประกาศ เรื่อง การต้องแสดงราคาสินค้าหรือบริการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า
ราคาสินค้าและบริการ ต้องแสดงราคาต่อหน่วย มีตัวเลขเป็นภาษาใดก็ได้ แต่ขอให้มีอารบิกอยู่ด้วย ทั้งนี้ ข้อความต้องเป็นภาษาไทย ในลักษณะที่เห็นชัดเจน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้ผู้บริโภคทราบก่อนการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สิ่งนี้คือหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจในการขายสินค้า ถ้าไม่มีแสดง หรือมีแต่อ่านไม่ชัด ไม่ครบถ้วนก็มีความผิด คือโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
ประเด็นสำคัญคือ ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องติดป้ายแสดงทุกอย่างให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า ไม่ใช่แค่ราคา แต่หมายถึงค่าเซอร์วิสชาร์จด้วย อาจจะระบุไว้ในเมนูอาหาร หรือติดประกาศบริเวณหน้าร้านก็ได้ ซึ่งยังไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจนว่าต้องระบุไว้ในตำแหน่งใด แต่ตำแหน่งนั้นผู้บริโภคต้องสามารถมองเห็นชัดเจน หากไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน นับว่ามีความผิด และผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเพราะร้านไม่ได้แสดงไว้
โดยสรุป หากผู้ประกอบการแสดงความชัดเจนเรื่องเซอร์วิสชาร์จกับเราแล้ว เราก็ต้องชัดเจนในการตัดสินใจของตัวเองตั้งแต่เลือกเข้าร้านว่ายินดีจ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นร้านค้า/ร้านอาหารที่เก็บเซอร์วิสชาร์จเกิน 10% หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่มีการชี้แจงที่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วนสคบ.1166 ซึ่งนอกจากการแจ้งภาครัฐแล้ว มาตรการทางสังคม การเผยแพร่เรื่องราวหรือคำเตือนให้กับสังคมก็ถือเป็นสิ่งที่มีพลัง สร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
-----------------------------------------
อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ประมวลรัษฎากร, กรมการค้าภายใน