ผู้ใช้ "สิทธิ์บัตรทอง" ป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ไปรับยาฟรีที่ร้าน "บู๊ทส์"
สปสช. เปิดบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ให้แก่ผู้มี "สิทธิ์บัตรทอง" สามารถไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ รวมถึงร้าน "บู๊ทส์ (Boots)" กว่า 145 สาขา
หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ให้แก่ผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่ไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนขยายมาจากโครงการ “เจอ แจก จบ”
ล่าสุด! สปสช. ขยายให้ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองที่มีอาการเล็กน้อย 16 อาการสามารถรับยาได้ที่ร้านบู๊ทส์ (Boots) ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
- 16 อาการมีอะไรบ้าง?
สำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่สามารถไปรับยาในโครงการร้านยารูปแบบใหม่ (common illnesses) คือ
- ปวดหัว
- เวียนหัว
- ปวดข้อ
- เจ็บกล้ามเนื้อ
- ไข้
- ไอ
- เจ็บคอ
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน
- เกิดอุบัติเหตุ มีบาดแผล
- ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะเจ็บ
- ตกขาวผิดปกติ
- อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา
- อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ระบบของร้านยาจะมีแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูล ตัวแอปฯ จะบอกว่าเจ็บป่วยอาการอะไรตรงกับมาตรฐานการรักษาในหมวดไหน มีรายการยาไหนบ้างที่สามารถจ่ายได้ เภสัชกรก็จะจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป
- ขั้นตอนรับบริการรับยาฟรีที่ร้านบู๊ทส์
วิธีการเข้ารับบริการทำเพียง 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ
1. ตรวจสอบรายชื่อยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ หรือสังเกตจากสติกเกอร์ ‘ร้านยาคุณภาพของฉัน’ โดยสาขาบู๊ทส์ที่เข้าร่วมโครงการมีประมาณ 145 สาขา สามารถตรวจสอบได้ที่ สปสช.
2. ไปที่ร้านยาใกล้บ้านตามสาขาที่เช็กแล้ว พร้อมนำบัตรประชาชนยืนยันสิทธิ์ โดยเภสัชกรจะคัดกรองอาการเบื้องต้นให้ยาพร้อมคำแนะนำการใช้ยา หรือแนะนำให้พบแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีอาการที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
3. เภสัชกรติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา
- ถ้าอาการดีขึ้นจะถือว่าสิ้นสุดการดูแล
- ถ้าอาการแย่ลง เภสัชกรจะแนะนำให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ
สำหรับขั้นตอนวิธีการในการรับบริการร้านบู๊ทส์นั้น ไม่มีความแตกต่างระหว่างสิทธิ์บัตรทองและลูกค้าทั่วไป เพียงแต่ในส่วนของการใช้สิทธิ์บัตรทองนั้นจะต้องมีการใช้บัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ์ก่อนตามที่ สปสช. กำหนด
เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการซักประวัติสอบถามอาการโรคแล้วจ่ายยาให้ และเมื่อจ่ายยาไปแล้ว เภสัชกรจะมีการติดตามอาการภายใน 3 วัน นอกจากนี้ หากคนไข้กลับถึงบ้านแล้วมีคำถามเพิ่มเติมก็สามารถเข้ามาถามในช่อง Pharmacist Chat ของแอปพลิเคชันบู๊ทส์ ได้อีกด้วย
-----------------------------------------
อ้างอิง : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ