เช็ก 7 "ยารักษาโควิด-19" บัญชียาหลัก เพิ่มการเข้าถึงสิทธิบัตรทอง

เช็ก 7 "ยารักษาโควิด-19" บัญชียาหลัก เพิ่มการเข้าถึงสิทธิบัตรทอง

บอร์ด สปสช. รับทราบคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เห็นชอบจัดทำ บัญชียาหลักสำหรับโรคโควิด-19 พร้อมบรรจุยารักษาโควิด 7 รายการ ส่งผลผู้ป่วยโควิด "บัตรทอง" เข้าถึงยา หลัง สธ.ประกาศโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง

หลังจากที่ ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ "โควิด-19" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการฟรี ตามสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิอยู่ ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม เช่นเดียวกับการเข้ารับการรักษาโรคอื่นๆ  

 

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมกรณีการบรรจุยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ 

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การเสนอวาระดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรอง ตรวจยืนยัน การดูแลรักษาที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถูกกำหนดโดยกรมการแพทย์ สธ. หรือหน่วยงานที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มอบหมายให้กำหนดมาตรฐาน ทุกรายการเป็นสิทธิประโยชน์ใน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามเกณฑ์การพิจารณา Green channel เนื่องจากเป็นโรคระบาดในภาวะเร่งด่วน

 

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเพิ่มข้อบ่งใช้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG) สำหรับกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็กซึ่งเกิดหลังการติดเชื้อโควิด (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children :MIS-C)

 

 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia : VITT) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2565 สธ.ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. และ 19 ต.ค. 2565 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้พิจารณารายการยาสำหรับรักษาโควิด-19 โดยมีมติคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 9-10/2565 เห็นชอบให้มี “บัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และความจําเป็นเร่งด่วนของประเทศ และให้ติดตามประสิทธิผล ผลข้างเคียงของยา โดยนำกลับมาทบทวนอย่างน้อยทุก 6 เดือน หรือเมื่อมีหลักฐานใหม่

 

ยารักษาโควิด 7 รายการ 

 

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ยังเห็นชอบให้ยารักษาโควิด-19 รวม 7 รายการ บรรจุเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับโรคโควิด-19 ได้แก่

  • ยาเนอร์มาเทรลเวียร์+ไรโทนาเวียร์ (nirmatrelvir+ritonavir)
  • ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir)
  • ยาโมนูพิราเวียร์ (molnupiravir)
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)
  • ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone)
  • ยาโทซิลิซูแมบ (tocilizumab)
  • ยาบาริซิทินิบ (baricitinib)

โดยชดเชยเป็นค่ายา รวมไปถึงเห็นชอบให้เพิ่มเงื่อนไขการใช้ยา IVIG ที่ชดเชยเป็นยา ได้แก่ การรักษาภาวะ MIS-C, การรักษาภาวะ VITT และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนโควิด-19

 

 

“เดิมทีก่อนที่ สธ.จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคเผ้าระวัง การเบิกจ่ายค่ายาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ Green Channel ด้วยเป็นโรคระบาดภาวะเร่งด่วน แต่เมื่อมีการปรับเป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว และ บอร์ด สปสช. มีมติให้การรักษาโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง ดังนั้น ในการเบิกจ่ายยารักษาจะต้องเป็นไปตามรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งการบรรจุรายการยาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็น สิทธิบัตรทอง สามารถเบิกจ่ายค่ายารักษาได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

วัคซีนโควิด ปี 66 

 

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม  ว่า  จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในไทยกว่า 143 ล้านโดสพบว่าช่วยเซฟชีวิตคนไทยได้กว่า 5 แสนคน  

 

ดังนั้น ที่ประชุมมีการพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ในปี 2566 ซึ่งจะมีการอิงตามรูปแบบการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1-2 เข็ม โดยฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง “608”  บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เบื้องต้นตัวเลขกลุ่มนี้ราวๆ 18 ล้านคน ฉีด 2 เข็ม ก็ใช้วัคซีนประมาณ 36 ล้านโดส โดยใช้งบจากกรมควบคุมโรคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ที่ควรได้รับการฉีดก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

 

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดได้ด้วย เพื่อช่วยกันฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด โดยได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานดูเรื่องนี้ร่วมกันไม่ให้มีความซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นนั้นต้องมีการพิจารณาตามสถานการณ์เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีการติดตาม ณ ตอนนี้เรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผลพบว่ายังไม่แตกต่างจากวัคซีนตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

"แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือราคาที่สูงกว่าวัคซีนเดิมอย่างมาก ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศ ซึ่งพบว่าแม้จะเดินไปได้ช้า แต่ก็ขอให้มีการพัฒนาต่อ เพราะอนาคตยังต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องพึ่งพาการผลิตในประเทศด้วย"

 

แผนบริหารจัดการวัคซีน

 

ในส่วนของแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในระยะที่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า กรมควบคุมโรคได้มีแผนบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่ม 608 กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่ม อสม. โดยเสนอให้มีการจัดหน่วยฉีดวัคซีนหลักประจำจังหวัดและอำเภอ Well baby clinic ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน Group Vaccination อาทิ บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ รวมถึงจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดกิจกรรม Vaccination Day of the Week

 

โควิด-19 คนติดเชื้อเพิ่ม 4-5%

 

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ขณะนี้ จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราวๆ 4-5 % ซึ่งเป็นไปตามโมเดลที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว โรงเรียนมีการเปิดการเรียนการสอน และประเทศมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากแล้ว ดังนั้นช่วงนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการเสียชีวิต

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีหลายหน่วยงานของไทยก้าวหน้า แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ขอให้ต่อยอดต่อไป เพราะอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกหลายเข็มหลายโดส เพื่อพึ่งพาศักยภาพการผลิตของประเทศไทยได้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนมีทั้งรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างจุฬาฯ ทำหลายตัว หรือองค์การเภสัชกรรม ไบโอเทค ส่วนเอกชนก็มีไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นต้น เป็นเครือข่ายพัฒนาวัคซีนโควิดต่อรวมถึงวัคซีนอื่น


 

4 วัคซีนไทย ทดสอบในมนุษย์

 

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้การวิจัยวัคซีนโควิด 19 ในประเทศยังไปไม่เร็วแต่มีความก้าวหน้า ที่ประชุมเห็นว่าควรเดินหน้าต่อ จะให้ได้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนได้ และเป็นตัวต้นทางถ้าจะปรับสายพันธุ์ต่อไป แม้เราทำได้ไม่เร็วเท่าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของไทยที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่

1.วัคซีนโควิด19 ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม

2. วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. วัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด

4. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Recombinant โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

 

ขณะที่วัคซีนวัคซีนโควิด 19 รูปแบบพ่นจมูก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์