ควรเลี่ยง! นี่คือการ“บูลลี่”แบบไม่ตั้งใจ พฤติกรรมที่คุณอาจยังไม่รู้
ในปี 2563 ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ที่มีการบูลลี่(Bully)มากที่สุดด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่ “ล้อเล่น”บางครั้งกลายเป็นการบูลลี่แบบไม่ตั้งใจ เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “BuddyThai”ช่วยเด็กเข้าถึงช่องทางช่วยเหลือได้เร็วผ่าน “3ป.”
เด็ก ๆ ในยุคนี้ประสบปัญหาการบูลลี่เพิ่มขึ้น มากเกินกว่าการเล่นแกล้งตามประสาเด็กทั่วไป ทั้งการล้อเลียน เหน็บแนม ปฏิเสธการเข้ากลุ่มข่มขู่ หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อการเรียนและความรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน และหลายกรณีพบว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทางลบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
สถานการณ์การบูลลี่
เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง ‘บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษา’ ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จำนวน 1,500 คน ใน 15 โรงเรียน เมื่อปี 2563 พบว่า มีเด็กถูกบูลลี่ถึงร้อยละ 91.79 ต้องเจอทั้งกับการตบหัว ถูกล้อชื่อพ่อแม่ ล้อปมด้อย ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่อยากไปโรงเรียน
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ COPAT สำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2565 เด็กอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965คน พบว่าเคยโดน cyber bullying ร้อยละ 26 เพศทางเลือกพบได้มากที่สุดถึง 2 ใน 5 คน ระดับมัธยมสูงกว่าระดับประถม 2.2 เท่า ผู้ที่รังแกคนอื่น ให้เหตุผลในการรังแก พบว่า ร้อยละ 30 เพื่อการแก้แค้นที่เคยโดนกระทำมาก่อน ร้อยละ 28 คิดว่าเป็นเรื่องสนุก ตลก ขำๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'บูลลี่' ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ!!!
"การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์" ภัยใกล้ตัว กับสัญญาณเตือนที่ห้ามประมาท
'กรมสุขภาพจิต' เผยกลั่นแกล้ง-รังแก (BULLYING) ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
ประเภทของการบูลลี่
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ประเภทของการกลั่นแกล้งรังแก หรือ บูลลี่
- ทางร่างกาย เช่น การชกต่อย การผลัก การตบตี
- ทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เช่น กดดัน ยั่วยุ ให้เพื่อนๆ แบ่งแยก ออกห่างจากกลุ่ม ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจ
- ทางวาจา ทางคำพูด เช่น เยาะเย้ย ดูถูก เสียดสี นินทา โกหกบิดเบือน เพื่อให้เกิดความเจ็บปวด
- Cyberbullying : การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ด้วยวิธีการ โพสน์ข้อความโจมตี หลอกลวง ทำร้าย คุกคามทางเพศ ด้วยถ้อยหยาบคาย เป็นเท็จ เพื่อให้อีกฝ่ายอับอาย เจ็บปวดและเสียใจ
ผลกระทบจากการบูลลี่
1. ผู้ที่ถูกบูลลี่ - มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล
- ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว
- มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร
- สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่พวกเขาเคยสนุก
- ภาวะซึมเศร้านี้อาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ - ปัญหาด้านสุขภาพ
- ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลงและมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้น
2.ผู้ที่บูลลี่ผู้อื่น - อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ
- มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ
- มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร
- อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต
- มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก และคนใกล้ตัว
วิธีรับมือเมื่อถูกบูลลี่
กรมสุขภาพจิตแนะนำวิธี ทำอย่างไรเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก
- ตั้งสติให้รู้ตัวว่ากำลังเจอกับการรังแก
- เดินจากไปอย่างสงบ ไม่ใส่ใจ
- อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุกจากการตอบสนองของเรา
- มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและคุณค่าของเรา
- อยู่ในที่ปลอดภัย มีเพื่อนที่เข้าใจอยู่ข้างๆ
- ไม่เลือกใช้กำลังเพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ผู้กลั่นแกล้งต้องการ
- หากการกลั่นแกล้งยังรุนแรง ให้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจและรู้วิธีจัดการ
พฤติกรรมที่เป็นการบูลลี่ไม่ตั้งใจ
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ในการเปิดตัวแอปพลิเคชัน BuddyThai ซึ่งสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TTA GROUP พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ที่โรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย
นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบูลลี่คือการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งคำพูดหรือพฤติกรรม ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย เกิดผลกระทบทางจิตใจรู้สึกกลัว ทุกข์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
การบูลลี่กัน อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ พฤติกรรมบางอย่าง ที่อาจไม่ทราบว่า นั่นคือการบูลลี่คนอื่นโดยไม่ตั้งใจ โดย 4 พฤติกรรม เพื่อไม่ไปบูลลี่คนอื่นโดยไม่ตั้งใจ
- ความก้าวร้าว คือ การกระทำที่แสดงออกทางกาย วาจา หรืออื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบกับร่างกาย จิตใจ อารมณ์
- การรังแก คือ พฤติกรรมที่ตั้งใจทำร้ายให้อีกฝ่ายเจ็บปวด หรือ อาจดูเหมือนไม่ได้ใช้ความก้าวร้าว เช่น การสร้างความเดือนร้อนผ่านการนินทาว่าร้าย ปล่อยข่าวลือ กันไม่ให้เข้ากลุ่ม รวมถึงการกระทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์
- ล้อเล่นทางลบ คือ การล้อเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก หรือเรื่องอื่นๆที่ทำให้คนที่ถูกล้อ รู้สึกแย่ ทุกข์ใจ หรือ อับอายจากการถูกล้อ
- ล้อเล่นทางบวก คือ การล้อเล่นที่มักใช้กับคนที่สนิทสนม ช่วยให้สนิทกันมากขึ้น โดยคนถูกล้อไม่รู้สึกแย่
ข้อ1-2 เป็นสิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างชัดเจน จึงถือว่าเป็นการบูลลี่ เพราะผู้ถูกกระทำ รู้สึกเจ็บปวด ส่วนข้อ3 การล้อเล่นทางลบ จึงเป็นการบูลลี่ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจได้
การบูลลี่เกิดขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในยุคไซเบอร์ที่ทุกคนมีอิสระในการเสพสื่อและแสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบกับการกระทำ และไม่เคยคิดว่าพฤติกรรมของเราสร้างผลกระทบทางใจและทางกายแก่บุคคลอื่นอย่างไร
ไม่น่าแปลกใจที่เด็ก ๆ ในยุคนี้ประสบปัญหาการบูลลี่เพิ่มขึ้น มากเกินกว่าการกลั่นแกล้งตามประสาเด็กทั่วไป มีทั้งการล้อเลียน เหน็บแนม เหยียดหยาม ข่มขู่ หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย ส่งผลต่อการเรียนและความปลอดภัย และหลายครั้งปัญหาในวัยเรียนดังกล่าวก็ฝังแน่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ดังนั้น การเฝ้าระวังและสอดส่องติดตามปัญหานี้ จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญต่อภารกิจในการลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
แต่มีหลายครั้งที่นักเรียนไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยหรือปรึกษาเพื่อน ครู หรือผู้ปกครอง เนื่องจากโดนจับตามองอยู่ตลอดเวลาจากเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่บูลลี่ผู้อื่น ทำให้หลายครั้งการแก้ปัญหาทำได้ล่าช้า เยาวชนบางคนเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีที่พึ่ง แต่การขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ 3 กลับสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้
การมีแอปพลิเคชัน BuddyThai ที่สามารถใช้เป็นช่องทางการขอความช่วยเหลือและบันทึกสถานะอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องการเชิงรุกและนำไปสู่การลดปัญหาการบูลลี่และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
โดนบูลลี่ให้หาแอปฯBuddyThai
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า TTA Group ได้ร่วมกับทางกรมสุขภาพจิตในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น BuddyThai ขึ้นมาเพื่อมุ่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไทยที่โดนบูลลี่โดยเฉพาะ
แอปพิเคชัน BuddyThai นอกจากจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้กับเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และนักจิตวิทยาใช้ติดตามช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา จนกระทบต่อสุขภาพจิตขั้นรุนแรงได้ทันท่วงทีด้วย หวังว่า BuddyThai จะได้รับความสนใจและมีการใช้อย่างกันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ เด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ ให้หันมาหาบัดดี้ (BuddyThai)
3 ป.ช่วยเรื่องบูลลี่
แอปพลิเคชัน BuddyThai มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3 ป. คือ
- ประเมิน มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้
- ปรึกษา มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต, ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน
- ป้องกัน มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้ว
ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็คได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง
ขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีมadmin ก็จะ Monitor เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้