"รักษาสิว"ฤทธิ์เด่นสารสกัด"กัญชา" ทำ“เครื่องสำอาง” บูม
สารสกัดกัญชา กำลังเป็นส่วนผสมที่กำลังบูมในเครื่องสำอาง มีการจดแจ้งกับอย.แล้วกว่า 1,000 รายการ นั่นเพราะมีสรรพคุณเด่นต่อผิวหนัง 3 ด้าน
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มาส่วนประกอบของกัญชา กัญชงและสารสกัดCBD ระหว่าง 25 ต.ค.-6 พ.ย.2565
เครื่องสำอางสารสกัดกัญชา
- อนุญาตทั้งหมด 2,145 รายการ เป็นเครื่องสำอาง 1,667 รายการ
- อนุญาตเพิ่ม 77 รายการ เป็นเครื่องสำอาง 63 รายการ
- ระหว่างพิจารณา 121 รายการ เป็นเครื่องสำอาง 23 รายการ
ในส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อนุญาตแล้วทั้งหมด
- เป็นการใช้น้ำมัน/สารสกัดเมล็ดกัญชง 1,108 รายการ
- การใช้ส่วนของกัญชง 49 รายการ
- การใช้ส่วนของกัญชา 126 รายการ
- การใช้สาร CBD 384 รายการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3 ปี "กัญชาทางการแพทย์" คืบหน้าถึงไหน โรคที่ใช้ดูแล รักษา บำบัด และเวชสำอาง
งานวิจัยชี้ "กัญชา" มีผลต่อ "ไอคิว - อีคิว" เด็กต่ำกว่า 20 แย่ลง
ต้อง"ลาพักร้อน"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”
3 ฤทธิ์เด่นกัญชาต่อผิวหนัง
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ฤทธิ์ของกัญชาที่มีต่อผิวหนัง ที่เป็นสารสกัด CBD ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีความปลอดภัย มีสรรพคุณเด่น 3 ประการ ซึ่งเป็นฤทธิ์ที่ต้องการทั้งหมด คือ
1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory)
2. ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ( Antioxidant)
3. ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน (Immunomodulatory effect)
“ที่สถาบันโรคผิวหนังตื่นเต้นนอกจากฤทธิ์เด่นทั้ง 3 ด้านแล้ว เป็นเพราะตรงผิวหนัง ปลายประสาทและเซลล์ผิวหนัง จะมีตัวรับโดยเฉพาะสำหรับสารสกัดCBD โดยเฉพาะ การใช้ที่ผิวหนัง จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานหรือหยด เพื่อให้มีฤทธิ์ดีต่อผิวหนัง แต่สามารถที่จะทาได้เลย ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดหรือที่กังวล ก็จะมีค่อนข้างน้อย สถาบันฯจึงสนใจเรื่องของกัญชาที่จะนำมาใช้ทั้งทางการแพทย์และเวชสำอาง”พญ.มิ่งขวัญกล่าว
กัญชากับ 4 โรคผิวหนัง
สถาบันโรคผิวหนังได้กำหนดแนวทางที่จะวิจัยและพัฒนาเป็น 2 ส่วน คือ 1.รักษาโรคผิวหนัง ซึ่งในรายงานการศึกษาวิจัยต่างๆมีอยู่หลายโรคที่ได้ผล น่าจะได้ผล หรืออาจจะได้ผล แต่จากการที่ได้ทบทวนวรรณกรรมทั้งหมด สถาบันฯกำลังวิจัยนำกัญชามาใช้รักษาโรคผิว 4 โรค ได้แก่
- โรคสะเก็ดเงิน ที่พบบ่อยในคนไทย อัตรา 1-5 %ของประชากร ค่าเฉลี่ยจะใช้ที่ 2 %ของประชากรหรือเป็นล้านคน โดยกลไกของโรค คือ จะเกิดการอักเสบของผิวหนังและมีการแบ่งเซลล์ผิดปกติ
- ผิวหนังอักเสบ
- ผมร่วง
- สิว ซึ่งมีเรื่องของการอักเสบค่อนข้างมาก
ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการวิจัย คาดว่าตจะใช้เป็นเวลาราว 1 ปีครึ่ง เนื่องจากเป็นการวิจัยที่จะทำเป็นยาแผนปัจจุบัน ทำให้กระบวนการศึกษาวิจัยค่อนข้างยาว
เวชสำอางสารสกัดกัญชา 18 สูตร
2.ด้านเวชสำอาง สถาบันโรคผิวหนัง ได้ค้นคว้าวิจัยสูตรเวชสำอางต้นแบบมาแล้ว 18 สูตรตำรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการวิจัยมากขึ้น พบว่า ฤทธิ์ที่เด่นต่อผิวหนังมาก คือ การต่อต้านอักเสบ โดยปริมาณที่ใช้หากเป็นการใช้เพื่อปรับภูมิคุ้มกันประมาณ 300 ในเรื่องการต้านอนุมูลอิสระจะใช้ 50-100 แต่ต้านการอักเสบจะใช้ราว 0.08-0.01 ก็ได้ผลจะใช้ในปริมาณที่น้อยมาก
ในส่วนของเวชสำอาง จากเดิมที่มุ่งเน้นเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ ก็มีการขยายออกมาเกี่ยวกับเรื่องของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาสิว หรือกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกี่ยวักบการอักเสบกล้ามเนื้อมากขึ้นด้วย
ทั้งยังพัฒนาปรับระดับการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้น โดยใช้นาโนเทคโนโลยี (Nanoencapsulation) เข้ามาช่วยในการละลายและเพิ่มความคงตัวของตำรับ เนื่องจาก
ปัจจุบันมีการถ่ายทอดให้ภาคเอกชนแล้ว 10 สูตร คือ บริษัท สยามเวลเนส เอมารา ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมเวชสำอางขนาดใหญ่ และ บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจสปาแอนด์เวลเนส Let’s relax ซึ่งเป็นสปาระดับสูงที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อยกระดับไปสู่ Medical and Wellness Service ครบวงจร
รพ.นพรัตนฯตรวจคุณภาพสารสกัดกัญชา
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เปิด “ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา” ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison) สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา (Potency) 11 ชนิด และ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ GC-MS/MS (SHIMADZU) สามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ปัจจุบันผู้ใช้บริการตรวจ Potency และ Terpene ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี