3 ปี "กัญชาทางการแพทย์" คืบหน้าถึงไหน โรคที่ใช้ดูแล รักษา บำบัด และเวชสำอาง

3 ปี "กัญชาทางการแพทย์" คืบหน้าถึงไหน โรคที่ใช้ดูแล รักษา บำบัด และเวชสำอาง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ฉายภาพ “กัญชาทางการแพทย์”หลังขับเคลื่อนมา 3 ปีนับตั้งแต่ 2562  ถึงวันนี้ใช้ในการดูแล รักษา บำบัดบางโรค ทำวิจัย และต่อยอดทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญมุ่งเป้าสู่การสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ

    เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  รัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ และเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมให้นำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและเข้าถึงยากัญชาอย่างมีคุณภาพ

        โดยดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของสธ.กว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูก การผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการ ถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ 

        สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ให้ครอบคลุม
       ส่วนศึกษาวิจัยจะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'กัญชา' ทางการแพทย์ กับช่องว่างที่หายไปของประเทศไทย
สธ. แจงนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยกว่า 143,000 คน
'กัญชา' ทางการแพทย์ กับช่องว่างที่หายไปของประเทศไทย

   นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา เพื่อให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและครอบครัวมีความเชื่อมั่นในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสมปลอดภัย โดยไม่เกิดภาระค่าใช้จ่าย จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ 

 รักษาโรคลมชัก-พาร์กินสัน-ปลอกประสาทอักเสบ

            นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา และนพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ได้มีการศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า หยุดชัก 14 % ชักรุนแรงลดลง 50%
         มีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก จึงควรเริ่มยาในขนาดต่ำ เพิ่มขนาดอย่างช้าๆ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง ถือว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564

       ปัจจุบันกรม ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ติดตามผลการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั่วประเทศ เบิกจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้ นำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 เพื่อให้แพทย์สั่งใช้ได้ทั่วไป

        นอกจากนี้ การใช้CBD เป็นยาเสริมในการรักษาโรคพาร์กินสัน เป็นการศึกษาขนาดเล็ก ผู้เข้าร่วมวิจัย 21 คน พบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้น  ผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า ลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนได้ทั้ง  4 คน  และผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน  สามารถลดอาการทางจิตได้ ดังนั้น  การใช้สารสกัดCBD มีความปลอดภัยไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง แม้ใช้ขนาดสูง น่าจะมีประโยชน์ในการใช้เป็นยาเสริมรักษาโรคพาร์กินสัน ช่วยลดอาการปวดเกร็ง อาการยุกยิก และการเคลื่อนไหวช้าได้    
         ส่วนโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple sclerosis : MS) ใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สูตร THC:CBD 1:1 ในลักษณะยาพ่นที่ดูดซึมผ่านช่องปาก เพื่อลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อ พบว่า มีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งและอาการปวด  ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนถึงประสิทธิภาพในการลดอาการอื่นๆ ของโรค MS เช่น อาการสั่น ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

สารสกัดกัญชากับโรคมะเร็ง

       นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรง ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565 มีผู้รับบริการรายใหม่แผนปัจจุบัน 433 ราย แผนไทย 52 ราย ติดตามการรักษา 821 ครั้ง ให้คำปรึกษา 1,441 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งด้านนรีเวช ปอด  ผู้ป่วย 70% อยู่ในระยะที่ 4 มักมาด้วยอาการนอนไม่หลับ 39% ปวด 35% หลังให้การดูแลมีอาการดีขึ้น 58%

      ส่วนการวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งได้ผลดีในเซลล์มะเร็งตับอ่อน เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และเซลล์มะเร็งเต้านม เมื่อศึกษาต่อในหนูทดลอง พบว่า สารสกัดกัญชาไม่มีผลต่ออัตราการกินอาหาร น้ำหนักตัว และผลทางโลหิตวิทยาของหนูทดลอง สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายของเซลล์มะเร็งเต้านม ซึ่งผลวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินความปลอดภัยและศักยภาพของสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อศึกษาวิจัยในมนุษย์และผู้ป่วยมะเร็งต่อไป
   วิจัยบำบัดผู้ติดยาเสพติด

        นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)  กล่าวว่า  เตรียมวิจัยการนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต (Amisulpride) เพื่อช่วยลดอาการทางจิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง โดยวางแผนศึกษาในผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนที่มีอาการทางจิตเวช เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ยาต้านอาการทางจิตร่วมกับ CBD กับกลุ่มที่ได้ยาต้านอาการทางจิตร่วมกับยาหลอก

        รวมถึงเตรียมวิจัยนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้เพื่อลดอาการถอนและอาการอยากเมทแอมเฟตามีน เปรียบเทียบกับยาทดแทน (Methylphenidate) โดยวางแผนศึกษาในผู้ป่วยเสพติดเมทแอมเฟตามีนที่ไม่มีอาการทางจิตเวช เพื่อลดอาการถอนยา อาการอยากยา และยังพัฒนาเครื่องตรวจสารกัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา
      รักษาโรคผิวหนัง-เวชสำอาง

        พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สารCBD ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีความปลอดภัย มีสรรพคุณเด่น 3 ประการ คือ 1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ 2. ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ 3. ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน สามารถนำกัญชามาใช้รักษาโรคผิว เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ ผมร่วง สิว ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการวิจัย และด้านเวชสำอาง สถาบันได้ค้นคว้าวิจัยสูตรเวชสำอางต้นแบบมาแล้ว 18 สูตรตำรับ ทั้งยังพัฒนาปรับระดับการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้น โดยใช้นาโนเทคโนโลยี (Nanoencapsulation) เข้ามาช่วยในการละลายและเพิ่มความคงตัวของตำรับ

        ปัจจุบันมีการถ่ายทอดให้ภาคเอกชนแล้ว 10 สูตร คือ บริษัท สยามเวลเนส เอมารา ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมเวชสำอางขนาดใหญ่ และ บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจสปาแอนด์เวลเนส Let’s relax ซึ่งเป็นสปาระดับสูงที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อยกระดับไปสู่ Medical and Wellness Service ครบวงจร
       นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า รพ.ได้เปิดศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา (Potency) 11 ชนิด  และสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ซึ่งรพ.พร้อมให้บริการในการตรวจคุณภาพ