“Young Futuremakers Thailand” ความฝันที่เท่ากัน โอกาสที่เท่าเทียม
ความบกพร่องทางร่างกาย หรือความพิการ อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในมุมมองของคนทั่วไป แต่ถ้าค้นลึกไปในผู้พิการจะพบว่า ทุกคนมีศักยภาพในหลากหลายด้าน เพียงแค่หาให้เจอแล้วส่งเสริมให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพนั้นออกมา
โครงการ Young Futuremakers Thailand – Promoting Youth Employability หรือ เยาวชนคนสร้างอนาคต - การส่งเสริมความสามารถในการมีงานทำของเยาวชนในประเทศไทย เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งโอกาสให้ เยาวชนผู้พิการ ได้นำความสามารถมาติดอาวุธเพิ่มเติมจากบุคลากรมืออาชีพจากสายอาชีพต่างๆ เพื่อพวกเขาได้มีอาชีพ มีรายได้ มีชีวิตที่ดีไม่แตกต่างจากคนที่ร่างกายปกติ
จากสถิติการจ้างงานผู้พิการในสถานประกอบการปะจำปี 2565 ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 พบว่า มีการจ้างงานตามมาตรา 33 การจ้างผู้พิการ ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐต้องรับผู้พิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานในสถานประกอบการโดยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงานหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามที่ ก.พ. กำหนด จำนวน 35,382 ราย หรือคิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนที่ต้องจ้างทั้งหมด 63,954 ราย
ในขณะที่ตาม มาตรา 35 การเสริมอาชีพให้ผู้พิการ ที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้สัมปทานตามมาตรา 35 โดยยื่นขอใช้สิทธิต่อกรมการจัดหางานหรือจัดหางานจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่หรือหน่วยงานของรัฐนั้น มีเพียง 13,809 ราย หรือคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีจำนวนต้องจ้างเพิ่มมากขึ้น 3,140 ราย จากทุกๆ มาตรา
นี่จึงเป็นโจทย์ให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหาทางสร้างงานให้ผู้พิการ ซึ่งโครงการ Young Futuremakers Thailand นี้ดำเนินการบริหารโครงการโดยสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ ไอแอลโอ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการจากมูลนิธิสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และนี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลักชื่อ Futuremakers ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาชุมชนที่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ริเริ่มเพื่อลดความไม่เท่าเทียมในสังคมด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ หารายได้และเติบโต
ระยะที่หนึ่งของโครงการ Young Futuremakers Thailand ดำเนินการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 - สิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อสนับสนุนเยาวชน โดยเฉพาะ เยาวชนหญิงผู้ด้อยโอกาส และ เยาวชนพิการ ในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
โดยจัดการฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน ฝึกอบรมทักษะในการทำงาน เช่น 1) หลักสูตรด้านดิจิทัล ได้แก่ หลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอเพื่อกระบวนการผลิต หลักสูตรการตัดต่อรูป Adobe Photoshop การสร้างวิดีโอสำหรับ YouTube 2) ทักษะภาษาอังกฤษ 3) งานอาชีพเพื่อผู้ประกอบการ เช่น การประกอบอาหารไทยประยุกต์ ตัดผม บาริสต้า ฯลฯ
นอกจากนี้ยังพัฒนาหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอเพื่อกระบวนการผลิตรูปแบบออนไลน์ เพื่อขยายการเข้าถึงหลักสูตรการฝึกอบรม โดยเฉพาะเยาวชนพิการ และจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถานการณ์การจ้างงานเยาวชนและเป็นสถานประกอบการสำหรับทุกคนเพื่อการฟื้นฟูที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง โดยทำงานร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อจะพัฒนาโปรแกรมนำร่องโครงการการให้คำแนะนำสำหรับการปรับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา มาตรฐานสมรรถนะ คุณสมบัติ และหลักสูตร ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลมากขึ้น
รวมถึงให้คำแนะนำด้านอาชีพ และช่วยหาแหล่งฝึกงานหรือตำแหน่งงาน โดยเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนในกรุงเทพมหานคร ระยอง พระนครศรีอยุธยา และนครราชสีมา โดยประสานกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเพื่อปรับเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์บริการจัดหางานของรัฐโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชน
นอกจากวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นขององค์กร พลังจากเครือข่ายก็มีส่วนสำคัญ โครงการนี้ ไอแอลโอ ได้จับมือกับเครือข่ายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย องค์กรนายจ้าง สถานประกอบการ และสมาคมที่ทำงานร่วมกับผู้พิการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงทักษะและความรู้เกี่ยวกับการจ้างงานเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนหญิงและเยาวชนพิการ ผ่านทางการร่วมกันจัดประชุมสัมมนาเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การจ้างงานเยาวชนในประเทศไทย และร่วมกันออกแบบหลักสูตรทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน
อีกทั้ง โครงการยังจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของสถาบันในการจัดการฝึกอบรมและการให้บริการจัดหางาน เช่น การพัฒนาและประยุกต์เครื่องมือแนะแนวสำหรับการปรับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา โดยเป็นโครงการนำร่องซึ่งมีเป้าหมายระยะยาวในการพลิกโฉมแนวทางปฏิบัติและการฝึกอบรมเพื่อให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันและอนาคตมีทักษะที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนสมดุล
นอกจากนี้ โครงการยังมีการทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดการเป็นสถานประกอบการสำหรับทุกคนหรือ Inclusive Workplace เช่น การจัดฝึกอบรมสถานประกอบการร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานผู้พิการ
ส่วนพลังจากหลังบ้าน พนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย ส่วนหนึ่งได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับโครงการ ผ่านทางกิจกรรมพนักงานจิตอาสา ซึ่งพนักงานธนาคารได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมและสอนเยาวชนในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการนำเสนอเคล็ดลับในการเขียนประวัติย่อหรือเรซูเม่ และเทคนิคการเข้าสัมภาษณ์งาน
ด้านผู้บริหารของธนาคารฯ ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พลากร หวั่งหลี หัวหน้าสายงานทรัพยากรมนุษย์ รพีพร แกล้วทนงค์ ตลอดจนหัวหน้าสายงานองค์กรสัมพันธ์ และบริหารภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์และการตลาด หัสญา หาสิตะพันธุ์ ต่างได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานสัมมนาต่างๆ ที่โครงการจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการจ้างงานเยาวชนในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับทักษะอาชีพที่เยาวชนในโครงการได้รับการฝึกอบรมนั้นมีหลากหลาย เช่น หลักสูตรคอมพิวเตอร์และการใช้งานอินเทอร์เน็ตเบื้องต้นสำหรับเยาวชนพิการทางสายตา, การเป็น YouTuber, การเป็นบาริสต้า และการเป็นช่างตัดผมสำหรับเยาวชนพิการทางการได้ยิน
ส่วนเยาวชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ หลักสูตรการประกอบอาหารไทยประยุกต์ หลักสูตรช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็กและหลักสูตรช่างไฟฟ้าภายในอาคาร รวมถึงหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอเพื่อกระบวนการผลิตที่เป็นอาชีพที่ต้องการในตลาดแรงงานปัจจุบัน
จากการเคี่ยวกรำของ Young Futuremakers Thailand จึงได้ผลผลิตเป็นเยาวชนเกือบ 600 คน ทั้งหญิงและชาย ซึ่งมีถึง 150 คน เป็นเยาวชนที่มีความพิการ เช่น ทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย ทางการมองเห็น หรือมีความพิการประเภทอื่นๆ
หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการคือ มิ่งลักษณ์ วิชาญเจริญธรรม นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 18 ปีที่มีปัญหาทางการได้ยิน เธอเป็นหนึ่งใน 600 คนในโครงการที่วันนี้ได้รับโอกาสเรียนรู้ทักษะอาชีพเพิ่มเติม และหลักสูตรการตัดผมพื้นฐานเป็นสิ่งที่เธอเลือก
“การได้เรียนตัดผมเป็นความรู้ใหม่ ที่ไม่ยากอย่างที่กังวลในตอนแรก หนูหวังว่าจะนำความรู้นี้ไปต่อยอด และฝันอยากจะเปิดร้านทำผมของตัวเองในอนาคต โดยจะเป็นร้านที่เปิดรับทั้งลูกค้าปกติและลูกค้าพิการ อยากให้คนทั่วไปทราบค่ะว่าผู้พิการเองก็มีศักยภาพและทำอะไรหลายๆ อย่างได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่เราทำในวิธีการของเรา” มิ่งลักษณ์ เล่าความรู้สึกผ่านล่ามภาษามือด้วยรอยยิ้มและท่าทีมุ่งมั่น
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของความฝันที่เยาวชนผู้พิการกำลังก่อร่างสร้างมันขึ้นมา แรงหนึ่งคือจากสองมือพวกเขา ส่วนอีกแรงคือกำลังใจและพลังการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่เล็งเห็นศักยภาพและพร้อมจะช่วยให้ความฝันของพวกเขาเกิดขึ้นจริง