เช็ก! สิทธิประโยชน์บัตรทอง “คัดกรอง 4 โรคมะเร็ง” รับวันต่อต้านโรคมะเร็งฯ
“10 ธ.ค. วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” สปสช.จัดสิทธิประโยชน์คัดกรอง 4 โรคมะเร็งร้าย มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านม พร้อมจัดระบบบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว
โรคมะเร็งคือ โรคของเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นก้อนมะเร็งที่บุกรุกทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ ทั้งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
จากข้อมูล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปี 2561 มีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ 381 คนต่อวัน หรือ 139,206 คนต่อปี และข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีรายงานคนไทยเสียชีวิต 230 คนต่อวัน หรือ 84,073 คนต่อปี
มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยตระหนักต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สิทธิประโยชน์บัตรทอง รักษา 4 โรคมะเร็ง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แม้ว่าโรคมะเร็งจะเป็นโรคร้ายและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก แต่ในมะเร็งบางชนิดก็รักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มต้นและเข้ารับการรักษาก่อนสู่ภาวะลุกลาม ดังนั้นภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง 30 บาท” จึงได้บรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นสิทธิประโยชน์บริการ ประกอบด้วย
บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ตรวจพบมากในหญิงไทย สาเหตุเกิดจากเชื้อเอชพีวี แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบระยะเริ่มแรก โดยบริการนี้ครอบคลุมดูแลผู้ที่อายุ 30-59 ปี หรืออายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เป็นต้น
โดยสามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี (VIA) หรือ ด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง โดยมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี และปีงบประมาณ 2566 สปสช. มีเป้าหมายบริการจำนวน 1,262,691 ราย นอกจากนี้ สปสช. ยังมีสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนเอชพีวี ให้กับเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ สำหรับผู้ที่อายุ 50–70 ปี โดยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุก 2 ปี หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ โดยปี 2566 ตั้งเป้าหมายบริการ 750,076 ราย
ระบบบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ”
บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก ด้วยคนไทยมีแนวโน้มเป็นมะเร็งในช่องปากเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลุกลาม บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปากจึงเป็นการค้นหาผู้ป่วย ช่วยลดผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้เข้าถึงการรักษาในระยะเริ่มต้น ขณะเดียวกันยังค่ารักษาในภาวะโรคลุกลามได้ บอร์ด สปสช. จึงบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2566 มีเป้าหมายบริการ 59,010 ราย
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งมะเร็งเต้านมพบในหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมและป้องกันการเกิดมะเร็งในอนาคต รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยลงได้ บอร์ด สปสช. ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 และในปี 2566 นี้ สปสช. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายบริการ 2,713 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า กรณีผลตรวจคัดกรองมะเร็งหากพบภาวะเสี่ยงหรือเป็นมะเร็งไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถใช้สิทธิรับการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาจากนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ได้มีการพัฒนาระบบบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ” (CA anywhere) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งบริการรักษามะเร็ง 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล
บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) ซึ่งจากการเริ่มตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยความร่วมมือของกรมการแพทย์ ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการกว่า 900 แห่ง และมีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการแล้วจำนวนกว่า 220,000 คน
“ในอดีตมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตลงจากอุปสรรคค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมา สปสช. จึงได้จัดสิทธิประโยชน์โรคมะเร็งครอบคลุมทั้งตรวจคัดกรองที่ช่วยเพิ่มโอกาสรักษาและการรักษาพยาบาลรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นบริการหัตถการ ยาเคมีบำบัด รังสีรักษาและยามุ่งเป้า เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการที่ดี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว