วิกฤติ‘หนี้’ ระเบิดเวลาลูกใหญ่

วิกฤติ‘หนี้’ ระเบิดเวลาลูกใหญ่

ภาพรวมหนี้เสียทั้งระบบ ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรตั้งแต่ปี 2565 ทะลุไป 1 ล้านล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุดคือ กลุ่มเจนวาย รวมถึงกลุ่มเจนเอ็กซ์ ที่เริ่มมีแนวโน้มผิดนัดชำระ

ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า หากไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้นเมื่อไรก็ได้ จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ก่อนหน้านี้ “เครดิตบูโร” เปิดข้อมูลหนี้รายย่อยไตรมาส 3 พบหนี้เสียทั้งระบบทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท เอ็นพีแอล แตะ 8.5% ขณะที่หนี้ค้างชำระพุ่งต่อเนื่อง แนวโน้มสินเชื่อบุคคลอยู่ในภาวะเบี้ยวหนี้เพิ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย-เจนเอ็กซ์ รวมไปถึง “กลุ่มคนรุ่นใหม่” เมื่อดูข้อมูลไส้ใน ส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้จากเครดิตการ์ด หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อการเกษตร ขณะที่ภาพรวมหนี้เสียทั้งระบบ ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรตั้งแต่ปี 2565 ทะลุไป 1 ล้านล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย กลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุด คือ กลุ่มเจนวาย รวมถึงกลุ่มเจนเอ็กซ์ ที่เริ่มมีแนวโน้มผิดนัดชำระ

 

ปัจจุบัน มีบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นหลากหลาย เพื่อเจาะไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจนใหม่ รวมถึงเจาะไปยังกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อหรือเครดิตการ์ดได้ ยกตัวอย่าง บริการ Buy Now, Pay Later หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เป็นรูปแบบบริการการเงินที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ในไทยอาจอยู่ในระยะแรกๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การซื้อสินค้าของกลุ่มมิลเลนเนียล หรือเจนแซด ให้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการก่อน จากนั้นค่อยผ่อนชำระค่าสินค้า

บริการ Buy Now, Pay Later นี้ เกิดขึ้นบนความนิยมของการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เติบโตค่อนข้างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 การผลักดันการเติบโตก็มาจากผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมถึงบรรดาระบบเพย์เมนต์ทั้งหลายต่างๆ ที่มองเห็นพฤติกรรมการซื้อสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงพัฒนาบริการนี้ขึ้นมาด้วยจุดเด่นตัวเลือกการชำระเงินที่ยืดหยุ่น แบ่งชำระได้ในเวลาสั้นๆ หรือแบ่งชำระในระยะเวลาที่นานกว่าเป็นรายเดือน อัตราดอกเบี้ย 0% การจูงใจด้วยบริการทางการเงินลักษณะนี้ แน่นอนว่าย่อมมาพร้อมความเสี่ยงที่จะก่อหนี้แบบไม่รู้ตัว

 

ว่ากันตามจริงแล้ว การก่อหนี้มีทั้งประโยชน์และโทษ ด้านหนึ่งการก่อหนี้สูงจนเกิดไปอาจฉุดรั้งการบริโภคในอนาคต ทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินมีความเปราะบางขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งการไม่ก่อหนี้เลย อาจทำให้ครัวเรือนใช้จ่ายน้อยลง เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ก่อหนี้ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง ขณะที่บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ควรต้องมีกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ชัดเจน สร้างการตระหนักรู้ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายที่เป็นการก่อหนี้เกินตัว จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุ โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในบ้านเรากำลังอ่อนแอและถดถอย